Read in English / 阅读语言 English 简体中文
การสะสมงานศิลปะกำลังได้รับความนิยมในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาโดยเฉพาะในประเทศไทยและทวีปเอเชีย และ มีนักสะสมหน้าใหม่เข้ามาในวงการมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด วันนี้ เต้ Art Man มีโอกาสได้พูดคุยกับคุณพิริยะ วัชจิตพันธ์ นักสะสมงานศิลปะชั้นนำของไทยและเจ้าของ Collection ในนิทรรศการ 200 YEARS JOURNEY THROUGH THAI MODERN ART HISTORY
ปฐมบทแห่งการสะสมงานศิลปะสู่กระแสความนิยม
เต้ Art Man: เล่าถึงงานสะสมชิ้นแรกให้ฟังหน่อย
พิริยะ: งานชิ้นแรกที่ผมเก็บจริงๆเริ่มจากกำแพงเดียว เพราะพื้นที่มันไม่ใหญ่ แต่เพราะเป็นกำแพงเดียว ก็อยากได้งานศิลปะที่มีชื่อเสียงหน่อย ตอนนั้นก็รู้ว่าเราไม่มีปัญญาซื้องานศิลปะต่างประเทศ เพราะมันเกินกำลังไปเยอะ ชื่อที่เรารู้จักทั้งแวนโก๊ะ โมเน่ หรือ ปิกัสโซ่ เป็นไปไม่ได้อยู่แล้วที่จะซื้องานพวกเขา ทั้งที่รู้จักชื่อศิลปินต่างชาติเยอะมาก แต่พอมาคิดถึงศิลปินไทย ปรากฏว่าเราแทบไม่รู้จักใครเลย จะมีสองคนที่รู้จักคือ อาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ และ อาจารย์ถวัลย์ ดัชนี สาเหตุที่รู้จักสองคนนี้เพราะออกทีวีบ่อย งานอาจารย์เฉลิมชัยจะเป็นแนวสวรรค์วิมานเยอะหน่อย ในขณะที่งานอาจารย์ถวัลย์จะออกแนวดำๆขาวๆเขียนเร็วๆ เราเห็นแล้วรู้สึกว่าน่าจะเหมาะกับห้องเรา
ก็เลยเริ่มจากงานอาจารย์ถวัลย์นี่แหละเป็นงานชิ้นแรกที่เรากัดฟันยอมลงทุนลงไป ซึ่งครั้งแรกเอาจริงๆก็ไม่ได้รู้สึกดีขนาดนั้น รู้สึกทำไมมันมีราคาสูงขนาดนั้นทั้งๆที่กระดาษแผ่นนึงกับหมึกไม่กี่เส้น ต้นทุนมันน่าจะไม่เกินยี่สิบบาท แต่ทำไมมันมีราคาหลายแสนได้ยังไง เราเลยเริ่มศึกษาแล้วเมื่ออยู่กับมันไปนานๆ ก็เลยกลายเป็นชอบมากขึ้น เข้าใจมากขึ้นเรื่อยๆ
เต้ Art Man: ตอนนี้การสะสมศิลปะกำลังบูมในเอเชีย มีนักสะสมหน้าใหม่เยอะขึ้น มองยังไง?
พิริยะ: จากที่สัมผัสมาผมว่ามันบูมขึ้นมากนะ นอกจากที่เก็บงานศิลปะ ผมยังบริหาร Auction House ชื่อ The Art Auction Center จัดมา 10 กว่ารอบแล้วก็ประสบความสำเร็จดีขึ้นเรื่อยๆ ทำลายสถิติใหม่ตลอดๆ ตอนที่เราเริ่มบริษัทขึ้นมามีลูกค้าสัก 40-50 คน ก็กลัวมากว่างานจะขายไม่ได้ เปิดประมูลแล้วไม่มีคนมา แต่วันนี้เรามีลูกค้าอย่างน้อยที่เราต้องส่งแคตตาล็อกประมาณ 500 คนต่อรอบ ในช่องทาง Social ต่างๆเราก็มีคนตามเป็นหลักหมื่น
ก่อนหน้านี้ถ้าเราพูดถึงนักสะสมศิลปะเรามีภาพว่าต้องเป็นอาเฮียหนีบกระเป๋าที่รักแร้ ใส่ทองเส้นเท่าโซ่รถไฟ แต่วันนี้ไม่ใช่แบบนั้นเลย ทุกวันนี้งานที่จัด คนที่มามีทุกแบบทุกสไตล์หลากหลายมาก มีทั้งเด็กเล็กๆเลยจนถึงนักธุรกิจวัยรุ่นสายสตรีท คือมีทุกแบบ วงการศิลปะตอนนี้มันกว้าง มันครอบคลุมไปหมดแล้ว และคนหันมาสนใจมากขึ้น ผมอยากจะบอกด้วยซ้ำว่าวันนี้มันอาจจะเป็นยุคทองของการสะสมงาน ยุคเรเนซองส์ของศิลปะไทยซึ่งทุกคนหันมาสนใจพร้อมๆกันเป็นจำนวนมาก
แล้วอีกอย่าง ปรากฏการณ์ Art Toy ผมว่ามันเป็นประโยชน์ต่อวงการศิลปะมาก มันทำให้คนได้เข้ามาเริ่มสัมผัส และหลายคนจริงๆเริ่มจาก Art Toy พอชอบก็เริ่มเก็บเป็นงาน Sculpture จากนั้นก็เป็นงานชิ้นใหญ่ เป็นงาน painting เป็นอะไรต่างๆ
เต้ Art Man: คุณพิ มองว่าเป็น Art Toy เป็นเหมือนตัวเชื่อม?
พิริยะ: เชื่อมๆ เชื่อมได้ดีเลย
เต้ Art Man: ทำไมถึงเลือกเก็บงานศิลปินไทย?
พิริยะ: สมมุติถ้าผมอยากเก็บงานศิลปะต่างประเทศ เช่น ผลงานปิกัสโซ ต่อให้ผมเอาเงินทั้งหมดในชีวิต รวมถึงเงินของญาติทุกคนรวมกัน ผมจะได้แค่รูปที่แย่ที่สุดของปิกัสโซแล้วผมก็จะกอดมันไว้จนตาย แต่ถ้าผมเอาเงินจำนวนเท่ากันไปซื้องานศิลปะไทย ผมจะได้งานศิลปะไทยที่ดีที่สุดของทุกคนเป็นจำนวนมหาศาล พูดง่ายๆ ถ้าเราซื้อปิกัสโซเราจะเป็นหางมังกรไปจนวันตาย แต่ถ้าเราเอาเงินเท่ากันไปซื้องานศิลปะไทยที่ดีๆ มารวมกันไว้ เราจะเป็นหัวหมา ถึงแม้วันนี้จะเป็นหัวหมา แต่ถ้าเราทุกคนในวงการช่วยกันพัฒนาผลักดันให้วงการศิลปะมันใหญ่ขึ้นในอนาคต ศิลปะไทยวันหนึ่งจากหมาตัวนี้มันจะโตเป็นมังกร แล้ววันนั้นเราจะเป็นหัวมังกรเอง
สะสมงานศิลปะ เริ่มอย่างไรดี?
เต้ Art Man: ขอเคล็ดลับการเริ่มสะสมงานศิลปะ?
พิริยะ: เวลาเก็บงานศิลปะอย่าไปมองเรื่องการลงทุนเป็นเรื่องแรก เพราะถ้าเรามองเรื่องลงทุน เราจะเครียด จะคิดว่าอันนั้นราคาเท่าไหร่ มันจะลง จะขึ้น มันจะไม่สนุก แต่ถ้าเราซื้อเพราะเราชอบเรารักมันจริงๆ ต่อให้เราไม่ได้ขายมันคือกำไรทุกวันเพราะได้เห็นมันทุกวัน ส่วนอนาคตถ้ามันจะราคาขึ้นก็เป็นผลพลอยได้ ถ้าคิดแบบนี้จะไม่เครียด อีกอย่างที่อยากแนะนำคืออย่ารีบ คุณไม่จำเป็นต้องเห็นแล้วรีบซื้อ ต้องดูเยอะๆ ศิลปะบางทีเป็นสิ่งที่เราอธิบายไม่ได้ว่าอันนี้ดีอันนี้ไม่ดี แต่คนที่เห็นของที่ดีทั้งหมดในโลกมาแล้วจะสามารถจำแนกได้เองว่าอันนี้คืองานที่ดี งานที่ใช่ แล้วเป็นงานที่เราชอบจริงๆ แล้วค่อยซื้อสิ่งนั้นมา ไปดูนิทรรศการให้มากๆ อย่าดูแต่ในมือถือหรือ iPad งานของจริงมีเรื่องเกี่ยวกับ Space เกี่ยวกับขนาดมาเกี่ยวข้อง คุณมาดูของจริงแล้วคุณจะรู้สึกว่าของจริงที่มันดีให้ความรู้สึกแบบไหน แล้วคุณจะรู้เองว่าอะไรดีไม่ดี
คำแนะนำสำหรับศิลปิน
เต้ Art Man: ศิลปินควรทำอย่างไรให้นักสะสมซื้องาน?
พิริยะ: เหมือนกับนักสะสม ศิลปินจำเป็นที่จะต้องไปเห็นงานที่ดีทั้งหมดก่อน ให้รู้ว่าสิ่งที่ดีในโลกเป็นยังไง และมันให้ความรู้สึกแบบไหน ศิลปินที่ดีต้องมีความลึก ไม่ใช่แค่วาดเก่งอย่างเดียว
อย่างสมัยอาจารย์ศิลป์ พีระศรี เข้ามาสอนลูกศิษย์ในบ้านเรา อาจารย์ศิลป์จะบอกเลยว่าคุณเป็นศิลปินที่ดี คุณต้องรู้ทุกเรื่อง คุณต้องรู้เรื่องสังคม เรื่องเศรษฐศาสตร์ เรื่องศาสนา รู้ทุกอย่าง คุณเป็นคนที่ลึกซึ้ง แล้วคุณเอาทั้งหมดที่คุณรู้มากลั่นกรองแล้วออกมาเป็นผลงานของคุณ อันนี้คืองานที่ลึก มันจะทำให้คนรู้สึกได้ว่างานคุณลึกหรือไม่ลึกจากสิ่งที่คุณรู้
อีกอย่างคือเรื่องฝีมือ จะมีศิลปินใหม่ๆหลายท่านมาถึงก็ทำงานประเภท Abstract แบบเขียนไม่รู้เรื่องเลย แล้วบอกว่าฉันจะทำแบบนี้อย่างเดียว แต่พอบอกให้วาดให้ดีๆ วาดไม่ได้ อันนี้ไม่ใช่คนที่เก่งจริงๆ คนที่เขาเก่งจริงๆ ถึงจะวาดรูปไม่รู้เรื่องแบบไหน แต่ถ้าให้เขาวาดดีๆ เขาวาดได้ ส่วนมากก็จะมาสายวาดดีๆก่อน พื้นฐานแน่นแล้ว แล้วเขาจะคลี่คลายไปยังไงก็ได้ ไม่มีใครว่า แต่ถ้ามาถึงคุณมาคลี่คลายเลย แล้วคุณทำดีไม่ได้ อันนี้ไม่ใช่ตัวจริง
สมัยนี้ศิลปินไม่ใช่แค่ทำงานศิลปะออกมาอย่างเดียวแล้วจะประสบความสำเร็จ มันเป็นโลกของออนไลน์ โลกของ Social Media ต่างๆ งานของคุณมันคือตัวตนของคุณ เพราะฉะนั้นตัวตนที่คุณสื่อออกมาผ่านทางช่องทางต่างๆ มันต้องสอดคล้องไปกับงาน ไม่ใช่คุณซำเหมาเละเทะแต่งานคุณเนี้ยบ มันก็ไม่ใช่ มันต้องเป็นเรื่องเดียวกัน คือคุณกับงานมันเป็นเนื้อเดียวกัน
และการจะขายงานสมัยนี้เหมือนการสร้างแบรนด์ แบรนด์นึงมันจะต้องเกี่ยวข้องกันหมดทั้งตัวคนสร้างและผลงาน เพราะฉะนั้นเรื่องเกี่ยวกับภาพลักษณ์ การตลาดอะไรต่างๆ ก็เป็นเรื่องสำคัญ
เต้ Art Man: มันมีคำพูดว่า คนซื้อไม่ได้ซื้อผลงานอย่างเดียวเราต้องซื้อในตัวตนของศิลปินด้วย
พิริยะ: เหมือนซื้อพระเครื่องเราก็ต้องอินกับหลวงพ่อก่อน
เต้ Art Man: ศิลปินควรให้คนมาดูแลดีไหม อย่างเช่นแกลเลอรี่?
พิริยะ: สมัยก่อนศิลปินลำบากที่ต้องขายงานเอง เพราะงั้นคุณต้องไม่ใช่แค่วาดเก่ง คุณต้องทำการตลาดเก่ง คุณต้องขายได้ด้วย เป็นเซลส์แมน แต่วันนี้มีแกลเลอรี่อยู่มากมาย ให้หน้าที่ต่างๆเหล่านี้เป็นของแกลเลอรี่ไป ศิลปินที่ดีคือคุณมุ่งสร้างสรรค์ผลงานให้ลึกซึ้ง ให้ดีที่สุด แล้วให้เรื่องการซื้อขายต่างๆเป็นของแกลเลอรี่ เพื่อให้มันเป็นระบบ ในโลกนี้ที่ไหนๆศิลปินก็สร้างงานไป แกลเลอรี่ ก็ขายงาน Auction House ก็มีหน้าที่ขายของมือสอง ทุกอย่างในระบบศิลปะมันมีหน้าที่ของมันอยู่แล้ว ถ้าเราทำหลายๆอย่างในคนเดียวเนี่ยมันทำไม่ได้ ในที่สุดมันจะเหนื่อยแล้วไม่ประสบความสำเร็จ
สะสมงานศิลปะกับชีวิต
เต้ Art Man: การสะสมงานศิลปะให้อะไรกับชีวิต?
พิริยะ: จริงๆแล้วผมไม่ได้มีประสบการณ์เยอะขนาดหลายๆท่านที่เก็บงานศิลปะมานาน ผมเก็บงานศิลปะมาสัก 10 ปีนี่หน่อยๆ จุดเริ่มจากการแค่ซื้อรูปประดับบ้าน พอเราได้สัมผัสของจริงเราจะรู้สึกว่าศิลปะมันมีความน่าหลงใหล มันมีพลัง มันมีอะไรบางอย่างที่ทำให้สนใจ เป็นแรงพลักดันที่จะทำให้เราศึกษาไปเรื่อยๆ
พอเรายิ่งศึกษาไปเรื่อยๆ ก็จะยิ่งเข้าใจอีกว่าศิลปะบ้านเราไม่ธรรมดาเลย มันมีประวัติศาสตร์ที่ยาวนาน มันมีความลึกซึ้ง เพราะฉะนั้นพอเราศึกษาเราก็อิน เลยแทนที่จะเก็บงานศิลปะแบบไม่มีทิศทางหรือเก็บแบบสะเปะสะปะไปเรื่อย ก็มาดูว่างานศิลปะที่เรามีอยู่ในคอลเลคชั่นเนี่ย มันพอจะเอามาเรียงเป็นเรื่องราวอะไรได้บ้าง แล้วปรากฏว่าเรามีทุกยุคทุกสมัยเลย เลยมาเรียงเป็นประวัติศาสตร์ศิลปะของบ้านเรา แล้วตรงไหนที่ขาดก็เอามาเติมทำให้มันครบ ให้เรื่องราวมันสมบูรณ์ขึ้นเรื่อยๆ จนเป็นที่มาของนิทรรศการในครั้งนี้
เรื่อง: เต้ Art Man
ภาพ: Tooh Athit / เต้ Art Man