Read in English / 阅读语言 English
หมูเด้ง Soft Power?
ทันทีที่ผมได้ชมคลิปสอนการแต่งหน้าแบบหมูเด้ง โดย Influencer ชื่อดัง Mei Pang ที่มีคนตามมากกว่า 3 ล้านคนใน IG ผมรู้ได้ทันทีว่าตอนนี้ “ปรากฏการณ์ หมูเด้ง” ได้รันทุกวงการไปแล้วไม่ว่าจะเป็นศิลปะ กีฬา ภาพยนตร์และอื่นๆ
แน่นอนว่าการเป็นที่รู้จักและได้รับความสนใจขนาดนี้ เหมือนทั้งโลกกำลังฉายไฟมาที่เจ้าฮิปโปตัวน้อยที่อยู่ในประเทศไทย
อาจารย์ Joseph S. Nye jr. ผู้ที่ได้บัญญัติคำว่า “Soft Power” ครั้งแรกของโลกได้ให้คำจำกัดความไว้ใจความว่า
“Soft Power หมายถึง ความสามารถที่ทำให้ผู้อื่นทำในสิ่งที่เราต้องการ โดยใช้วิธีการดึงดูด ไม่ใช่การบังคับหรือจ่ายเงิน”
จากคำอธิบายดังกล่าวแน่นอนว่าคงไม่มีใครบังคับ หรือ จ่ายเงิน ให้เพจ หรือ Influencer ต่างๆต้องมาลงเรื่องราวเกี่ยวกับหมูเด้ง แต่ด้วยความน่ารักที่มี “พลังดึงดูด” ประกอบกับ มี Story ที่เป็นกระแส viral ในไทย เลยทำให้เกิดปรากฏการณ์หมูเด้งนี้จากจุดเล็กๆใน TikTok ได้ลามไปจนถึงสื่อกระแสหลักทั่วโลก
หมูเด้ง Soft Power กับ โอกาสของประเทศไทย?
ถ้าเป็นภาษาฟุตบอลต้องบอกว่าเรื่องนี้มัน “เข้าทางเท้า”ประเทศไทยแล้ว และ เนื่องด้วยเรามีรัฐบาลที่ได้เริ่มบริหารจัดการ Soft Power ของประเทศไปแล้วด้วยงบมหาศาลถึงเงิน 5 พันกว่าล้านบาท คำถามที่น่าสนใจต่อไปก็คือว่า แล้วประเทศไทยจะสามารถใช้โอกาสนี้กับ Soft Power อะไรได้บ้าง?
หลายคนอาจจะมองว่าก็โปรโมทหมูเด้งไปเยอะๆสิให้เป็น หมูเด้ง Soft Power เป็นการโปรโมทการท่องเที่ยว เหมือนที่ญี่ปุ่นพยายามทำกับปลาวาฬ Beluga สีขาว (คราวนี้ญี่ปุ่นก็ไม่ยอมแพ้ส่งฮิปโปแคระเจ้า เนมุเนมุ มาประชันกับหมูเด้ง)
แต่ต้องระลึกไว้เสมอว่า Soft Power มันไม่ใช่แค่การเกาะกระแส และ พออะไรดัง ก็ไปเรียกว่ามันคือ Soft Power มันต้องมียุทธศาสตร์ มีเป้าหมายที่วัดผลได้ มีแผนที่ชัดเจนว่าต้องการบรรลุผลอะไร?
ถ้าเราจะโปรโมทอยากดึงดูดคนมาเที่ยวประเทศด้วยเรื่องสวนสัตว์จากหมูเด้ง เราจะสู้ประเทศสหรัฐอเมริกา หรือ แอฟริกาใต้ได้ไหม?
ถ้าเราจะโปรโมทตัวหมูเด้งที่แสนจะน่ารัก ใครๆก็ต้องมาหามาชม มันก็สามารถทำได้ แต่จะโปรโมทได้อีกนานเท่าไหร่? ปลายทางสายนี้นำไปสู่สิ่งที่เรียกว่า “Panda Diplomacy” อันกรณีศึกษาของการทำ Soft Power อันโด่งดังของประเทศจีนกับหมีแพนด้า ซึ่งการทูต หรือ กิจกรรมระหว่างประเทศเป็น หนึ่ง ใน สาม องค์ประกอบของ Soft Power ที่ Joseph S. Nye jr. ได้ว่าไว้
เพื่อนบ้านเรา มาเลเซีย ก็มองการบ้านเพื่อน ลองทำดูบ้างด้วยการเริ่ม”Orangutans Diplomacy” โปรโมทมอบลิงอุรังอุตังให้กับบรรดาประเทศที่อุดหนุนน้ำมันปาลม์ เพราะประเทศเขาเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ของโลก ซึ่งอุตสาหกรรมดังกล่าวมันทำให้ลิงอุรังอุตังนั้นต้องไร้ที่อยู่และเสี่ยงสูญพันธ์ุ ทางมาเลเซีย เลยเล่นประเด็นนี้เพื่อจะสื่อว่าเขาทำอุตสาหกรรมนี้และส่งออกอย่างรักโลกไม่ได้เบียดเบียนเจ้าลิงยักษ์
ถ้าเราจะทำ การฑูตหมูเด้ง หรือ “Moodeng Diplomacy” ประเทศไทยจะต้องหา Story Telling แสดงถึงที่มาถึงไปแล้วความเกี่ยวพันกับประเทศไทย ซึ่งกว่าจะประสบความสำเร็จต้องใช้เวลานาน โดยตอนนั้นหมูเด้ง อาจจะมีลูกหลานเป็น หมูแก้ว หมูกรอบ ไปแล้ว
แล้วประเทศไทยจะทำอะไรกับกระแส หมูเด้ง ได้บ้าง?
หากมองย้อนกลับไปในสิ่งที่ทางคณะกรรมการ Soft Power กำลังทำคือ 5 F (Food, Festival, Film, Fighting, Fashion) สิ่งที่ผมมองว่าน่าจะเป็นไปได้และทำได้ทันทีคือ Food
ในสกู๊ปหมูเด้งของสื่อใหญ่จากญี่ปุ่นอย่าง Nippon TV ช่วงตอนหนึ่งรายการได้อธิบายถึงคำว่า “หมูเด้ง” ในภาษาไทย โดยอธิบายความแตกต่างของ หมูเด้ง หมูแดง และ หมูสับ ซึ่งจุดนี้ผมว่ายังมีพื้นที่ให้เล่นได้อีกเยอะ และ คนที่สามารถพูดเรื่องนี้ได้ดีที่สุดคือ “ประเทศไทย” ประเด็นนี้สามารถต่อยอดโปรโมทอาหารไทยเพราะมีพลังดึงดูดขั้นเทพที่ใครๆต่างก็ยอมรับและชื่นชมเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว และ ตรงกับยุทธศาสตร์ที่ต้องการจะทำ
ไมว่าจะหมูเนย หมีเด้ง หรีอ อะไรที่เป็นกระแส ทุกอย่างมันมีวัฏจักรของมัน คำว่า “น้ำขึ้นให้รีบตัก” สามารถนำมาตักสร้างประโยชน์ให้ประเทศชาติ มากกว่าจะนั่งดูเฉยๆและปล่อยให้กระแสนี้ลอยไปอย่างไม่ได้ประโยชน์อะไร
อย่าลืมว่าการลงทุนในยุทธศาสตร์ Soft Power ครั้งนี้ มีเดิมพันอยู่ที่ 5 พันล้านกว่าบาท ซึ่งเอาไปสร้างโรงเรียนได้ไม่รู้กี่โรงเรียน เป็นทุนผลิตบุคลากรทางการแพทย์ได้ไม่รู้กี่พันคน พัฒนาสาธารณูปโภคได้ไม่รู้กี่แห่ง
จงสวบโอกาสครั้งนี้ให้เหมือนที่หมูเด้งพยายามสวบพี่เลี้ยงครั้งแล้วครั้งเล่า
และผลักดัน Soft Power ให้ประสบความสำเร็จต่อไปร็จต่อไป
เรื่อง: เต้ Art Man