สะสมงานศิลปะแบบหัวหมา สู่ยุคเรเนซองส์ศิลปะไทย

Read in English / 阅读语言 English 简体中文

(ซ้าย) คุณพิริยะ วัชจิตพันธ์, (กลาง) ผลงานครอบครัว, 2509 ของ ประเทือง เอมเจริญ, (ขวา) เต้ Art Man

การสะสมงานศิลปะกำลังได้รับความนิยมในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาโดยเฉพาะในประเทศไทยและทวีปเอเชีย และ มีนักสะสมหน้าใหม่เข้ามาในวงการมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด วันนี้ เต้  Art Man มีโอกาสได้พูดคุยกับคุณพิริยะ วัชจิตพันธ์ นักสะสมงานศิลปะชั้นนำของไทยและเจ้าของ Collection ในนิทรรศการ  200 YEARS JOURNEY THROUGH THAI MODERN ART HISTORY

ผลงานติดตั้ง Smile Again, 2565, มือบอญ (ดนัยพัฒน์ เลิศพุทธิตระการ)

ปฐมบทแห่งการสะสมงานศิลปะสู่กระแสความนิยม

เต้ Art Man: เล่าถึงงานสะสมชิ้นแรกให้ฟังหน่อย

พิริยะ: งานชิ้นแรกที่ผมเก็บจริงๆเริ่มจากกำแพงเดียว เพราะพื้นที่มันไม่ใหญ่ แต่เพราะเป็นกำแพงเดียว ก็อยากได้งานศิลปะที่มีชื่อเสียงหน่อย ตอนนั้นก็รู้ว่าเราไม่มีปัญญาซื้องานศิลปะต่างประเทศ เพราะมันเกินกำลังไปเยอะ ชื่อที่เรารู้จักทั้งแวนโก๊ะ โมเน่ หรือ ปิกัสโซ่ เป็นไปไม่ได้อยู่แล้วที่จะซื้องานพวกเขา ทั้งที่รู้จักชื่อศิลปินต่างชาติเยอะมาก แต่พอมาคิดถึงศิลปินไทย ปรากฏว่าเราแทบไม่รู้จักใครเลย จะมีสองคนที่รู้จักคือ อาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ และ อาจารย์ถวัลย์ ดัชนี สาเหตุที่รู้จักสองคนนี้เพราะออกทีวีบ่อย งานอาจารย์เฉลิมชัยจะเป็นแนวสวรรค์วิมานเยอะหน่อย ในขณะที่งานอาจารย์ถวัลย์จะออกแนวดำๆขาวๆเขียนเร็วๆ เราเห็นแล้วรู้สึกว่าน่าจะเหมาะกับห้องเรา

ก็เลยเริ่มจากงานอาจารย์ถวัลย์นี่แหละเป็นงานชิ้นแรกที่เรากัดฟันยอมลงทุนลงไป ซึ่งครั้งแรกเอาจริงๆก็ไม่ได้รู้สึกดีขนาดนั้น รู้สึกทำไมมันมีราคาสูงขนาดนั้นทั้งๆที่กระดาษแผ่นนึงกับหมึกไม่กี่เส้น ต้นทุนมันน่าจะไม่เกินยี่สิบบาท แต่ทำไมมันมีราคาหลายแสนได้ยังไง เราเลยเริ่มศึกษาแล้วเมื่ออยู่กับมันไปนานๆ ก็เลยกลายเป็นชอบมากขึ้น เข้าใจมากขึ้นเรื่อยๆ

กกุสันโธ (Despair Eclipes of Intellect), 2511, ถวัลย์ ดัชนี

เต้ Art Man:  ตอนนี้การสะสมศิลปะกำลังบูมในเอเชีย มีนักสะสมหน้าใหม่เยอะขึ้น มองยังไง?

พิริยะ: จากที่สัมผัสมาผมว่ามันบูมขึ้นมากนะ นอกจากที่เก็บงานศิลปะ ผมยังบริหาร Auction House ชื่อ The Art Auction Center จัดมา 10 กว่ารอบแล้วก็ประสบความสำเร็จดีขึ้นเรื่อยๆ ทำลายสถิติใหม่ตลอดๆ ตอนที่เราเริ่มบริษัทขึ้นมามีลูกค้าสัก 40-50 คน ก็กลัวมากว่างานจะขายไม่ได้ เปิดประมูลแล้วไม่มีคนมา แต่วันนี้เรามีลูกค้าอย่างน้อยที่เราต้องส่งแคตตาล็อกประมาณ 500 คนต่อรอบ ในช่องทาง Social ต่างๆเราก็มีคนตามเป็นหลักหมื่น

ก่อนหน้านี้ถ้าเราพูดถึงนักสะสมศิลปะเรามีภาพว่าต้องเป็นอาเฮียหนีบกระเป๋าที่รักแร้ ใส่ทองเส้นเท่าโซ่รถไฟ แต่วันนี้ไม่ใช่แบบนั้นเลย ทุกวันนี้งานที่จัด คนที่มามีทุกแบบทุกสไตล์หลากหลายมาก มีทั้งเด็กเล็กๆเลยจนถึงนักธุรกิจวัยรุ่นสายสตรีท คือมีทุกแบบ วงการศิลปะตอนนี้มันกว้าง มันครอบคลุมไปหมดแล้ว และคนหันมาสนใจมากขึ้น ผมอยากจะบอกด้วยซ้ำว่าวันนี้มันอาจจะเป็นยุคทองของการสะสมงาน ยุคเรเนซองส์ของศิลปะไทยซึ่งทุกคนหันมาสนใจพร้อมๆกันเป็นจำนวนมาก

แล้วอีกอย่าง ปรากฏการณ์ Art Toy ผมว่ามันเป็นประโยชน์ต่อวงการศิลปะมาก มันทำให้คนได้เข้ามาเริ่มสัมผัส และหลายคนจริงๆเริ่มจาก Art Toy พอชอบก็เริ่มเก็บเป็นงาน Sculpture จากนั้นก็เป็นงานชิ้นใหญ่ เป็นงาน painting เป็นอะไรต่างๆ

เต้ Art Man: คุณพิ มองว่าเป็น Art Toy เป็นเหมือนตัวเชื่อม?

พิริยะ: เชื่อมๆ เชื่อมได้ดีเลย

Cry me a river, 2565, มอลลี่(นิสา ศรีคำดี)

เต้ Art Man: ทำไมถึงเลือกเก็บงานศิลปินไทย?

พิริยะ: สมมุติถ้าผมอยากเก็บงานศิลปะต่างประเทศ เช่น ผลงานปิกัสโซ ต่อให้ผมเอาเงินทั้งหมดในชีวิต รวมถึงเงินของญาติทุกคนรวมกัน ผมจะได้แค่รูปที่แย่ที่สุดของปิกัสโซแล้วผมก็จะกอดมันไว้จนตาย แต่ถ้าผมเอาเงินจำนวนเท่ากันไปซื้องานศิลปะไทย ผมจะได้งานศิลปะไทยที่ดีที่สุดของทุกคนเป็นจำนวนมหาศาล พูดง่ายๆ ถ้าเราซื้อปิกัสโซเราจะเป็นหางมังกรไปจนวันตาย แต่ถ้าเราเอาเงินเท่ากันไปซื้องานศิลปะไทยที่ดีๆ มารวมกันไว้ เราจะเป็นหัวหมา ถึงแม้วันนี้จะเป็นหัวหมา แต่ถ้าเราทุกคนในวงการช่วยกันพัฒนาผลักดันให้วงการศิลปะมันใหญ่ขึ้นในอนาคต ศิลปะไทยวันหนึ่งจากหมาตัวนี้มันจะโตเป็นมังกร แล้ววันนั้นเราจะเป็นหัวมังกรเอง

บรรยากาศในนิทรรศการ 200 YEARS JOURNEY THROUGH THAI MODERN ART HISTORY นิทรรศการ 200 YEARS JOURNEY THROUGH THAI MODERN ART HISTORY. (ซ้าย) FLY WITH ME TO ANOTHER WORLD, 2553, นาวิน ลาวัลย์ชัยกุล, (ภาพไกล) ภาพวาด portrait ของ พิริยะและกรกมล วัชจิตพันธ์ วาดขึ้นปี 2565 โดย ศักดิ์วุฒิ วิเศษมณี ส่วนจอทางซ้ายเป็น ผลงานภาพเคลื่อนไหว NFT แสดงขั้นตอนการสร้างสรรค์ผลงานนี้, (ขวา)  BLAZE AND AQUA, 2560, ก้องกาน(กันตภณ เมธีกุล)

สะสมงานศิลปะ เริ่มอย่างไรดี?

เต้ Art Man: ขอเคล็ดลับการเริ่มสะสมงานศิลปะ?

พิริยะ: เวลาเก็บงานศิลปะอย่าไปมองเรื่องการลงทุนเป็นเรื่องแรก เพราะถ้าเรามองเรื่องลงทุน เราจะเครียด จะคิดว่าอันนั้นราคาเท่าไหร่ มันจะลง จะขึ้น มันจะไม่สนุก แต่ถ้าเราซื้อเพราะเราชอบเรารักมันจริงๆ ต่อให้เราไม่ได้ขายมันคือกำไรทุกวันเพราะได้เห็นมันทุกวัน ส่วนอนาคตถ้ามันจะราคาขึ้นก็เป็นผลพลอยได้ ถ้าคิดแบบนี้จะไม่เครียด อีกอย่างที่อยากแนะนำคืออย่ารีบ คุณไม่จำเป็นต้องเห็นแล้วรีบซื้อ ต้องดูเยอะๆ ศิลปะบางทีเป็นสิ่งที่เราอธิบายไม่ได้ว่าอันนี้ดีอันนี้ไม่ดี แต่คนที่เห็นของที่ดีทั้งหมดในโลกมาแล้วจะสามารถจำแนกได้เองว่าอันนี้คืองานที่ดี งานที่ใช่ แล้วเป็นงานที่เราชอบจริงๆ แล้วค่อยซื้อสิ่งนั้นมา ไปดูนิทรรศการให้มากๆ อย่าดูแต่ในมือถือหรือ iPad งานของจริงมีเรื่องเกี่ยวกับ Space เกี่ยวกับขนาดมาเกี่ยวข้อง คุณมาดูของจริงแล้วคุณจะรู้สึกว่าของจริงที่มันดีให้ความรู้สึกแบบไหน แล้วคุณจะรู้เองว่าอะไรดีไม่ดี

(ซ้าย) มาลินี พีระศรี, 2509, จักรพันธุ์ โปษยกฤต, (ขวา) ลูกศิษย์, 2496, เฉลิม นาคีรักษ์
Memory House, 2561, Alex Face (พัชรพล แตงรื่น)

คำแนะนำสำหรับศิลปิน

เต้ Art Man: ศิลปินควรทำอย่างไรให้นักสะสมซื้องาน?

พิริยะ: เหมือนกับนักสะสม ศิลปินจำเป็นที่จะต้องไปเห็นงานที่ดีทั้งหมดก่อน ให้รู้ว่าสิ่งที่ดีในโลกเป็นยังไง และมันให้ความรู้สึกแบบไหน ศิลปินที่ดีต้องมีความลึก ไม่ใช่แค่วาดเก่งอย่างเดียว

อย่างสมัยอาจารย์ศิลป์ พีระศรี เข้ามาสอนลูกศิษย์ในบ้านเรา อาจารย์ศิลป์จะบอกเลยว่าคุณเป็นศิลปินที่ดี คุณต้องรู้ทุกเรื่อง คุณต้องรู้เรื่องสังคม เรื่องเศรษฐศาสตร์ เรื่องศาสนา รู้ทุกอย่าง คุณเป็นคนที่ลึกซึ้ง แล้วคุณเอาทั้งหมดที่คุณรู้มากลั่นกรองแล้วออกมาเป็นผลงานของคุณ อันนี้คืองานที่ลึก มันจะทำให้คนรู้สึกได้ว่างานคุณลึกหรือไม่ลึกจากสิ่งที่คุณรู้

อีกอย่างคือเรื่องฝีมือ จะมีศิลปินใหม่ๆหลายท่านมาถึงก็ทำงานประเภท Abstract แบบเขียนไม่รู้เรื่องเลย แล้วบอกว่าฉันจะทำแบบนี้อย่างเดียว แต่พอบอกให้วาดให้ดีๆ วาดไม่ได้ อันนี้ไม่ใช่คนที่เก่งจริงๆ คนที่เขาเก่งจริงๆ ถึงจะวาดรูปไม่รู้เรื่องแบบไหน แต่ถ้าให้เขาวาดดีๆ เขาวาดได้ ส่วนมากก็จะมาสายวาดดีๆก่อน พื้นฐานแน่นแล้ว แล้วเขาจะคลี่คลายไปยังไงก็ได้ ไม่มีใครว่า แต่ถ้ามาถึงคุณมาคลี่คลายเลย แล้วคุณทำดีไม่ได้ อันนี้ไม่ใช่ตัวจริง

สมัยนี้ศิลปินไม่ใช่แค่ทำงานศิลปะออกมาอย่างเดียวแล้วจะประสบความสำเร็จ มันเป็นโลกของออนไลน์ โลกของ Social Media ต่างๆ งานของคุณมันคือตัวตนของคุณ เพราะฉะนั้นตัวตนที่คุณสื่อออกมาผ่านทางช่องทางต่างๆ มันต้องสอดคล้องไปกับงาน ไม่ใช่คุณซำเหมาเละเทะแต่งานคุณเนี้ยบ มันก็ไม่ใช่ มันต้องเป็นเรื่องเดียวกัน คือคุณกับงานมันเป็นเนื้อเดียวกัน

และการจะขายงานสมัยนี้เหมือนการสร้างแบรนด์ แบรนด์นึงมันจะต้องเกี่ยวข้องกันหมดทั้งตัวคนสร้างและผลงาน เพราะฉะนั้นเรื่องเกี่ยวกับภาพลักษณ์ การตลาดอะไรต่างๆ ก็เป็นเรื่องสำคัญ

(Detailed) Memory House, 2561, Alex Face (พัชรพล แตงรื่น)

เต้ Art Man: มันมีคำพูดว่า คนซื้อไม่ได้ซื้อผลงานอย่างเดียวเราต้องซื้อในตัวตนของศิลปินด้วย

พิริยะ: เหมือนซื้อพระเครื่องเราก็ต้องอินกับหลวงพ่อก่อน

ตู้พระธรรม, 2551, ถวัลย์ ดัชนี
สะสมงานศิลปะ
เสียงขลุ่ยทิพย์, 2492, เขียน ยิ้มศิริ

เต้ Art Man: ศิลปินควรให้คนมาดูแลดีไหม อย่างเช่นแกลเลอรี่​?

พิริยะ: สมัยก่อนศิลปินลำบากที่ต้องขายงานเอง เพราะงั้นคุณต้องไม่ใช่แค่วาดเก่ง คุณต้องทำการตลาดเก่ง คุณต้องขายได้ด้วย เป็นเซลส์แมน แต่วันนี้มีแกลเลอรี่อยู่มากมาย ให้หน้าที่ต่างๆเหล่านี้เป็นของแกลเลอรี่ไป ศิลปินที่ดีคือคุณมุ่งสร้างสรรค์ผลงานให้ลึกซึ้ง ให้ดีที่สุด แล้วให้เรื่องการซื้อขายต่างๆเป็นของแกลเลอรี่ เพื่อให้มันเป็นระบบ ในโลกนี้ที่ไหนๆศิลปินก็สร้างงานไป แกลเลอรี่ ก็ขายงาน Auction House ก็มีหน้าที่ขายของมือสอง ทุกอย่างในระบบศิลปะมันมีหน้าที่ของมันอยู่แล้ว ถ้าเราทำหลายๆอย่างในคนเดียวเนี่ยมันทำไม่ได้ ในที่สุดมันจะเหนื่อยแล้วไม่ประสบความสำเร็จ

สะสมงานศิลปะกับชีวิต

เต้ Art Man: การสะสมงานศิลปะให้อะไรกับชีวิต?

พิริยะ: จริงๆแล้วผมไม่ได้มีประสบการณ์เยอะขนาดหลายๆท่านที่เก็บงานศิลปะมานาน ผมเก็บงานศิลปะมาสัก 10 ปีนี่หน่อยๆ จุดเริ่มจากการแค่ซื้อรูปประดับบ้าน พอเราได้สัมผัสของจริงเราจะรู้สึกว่าศิลปะมันมีความน่าหลงใหล มันมีพลัง มันมีอะไรบางอย่างที่ทำให้สนใจ เป็นแรงพลักดันที่จะทำให้เราศึกษาไปเรื่อยๆ

เทวะปักษา(Dheva Paksa), ประมาณ ศตวรรษ 2510, ถวัลย์ ดัชนี

พอเรายิ่งศึกษาไปเรื่อยๆ ก็จะยิ่งเข้าใจอีกว่าศิลปะบ้านเราไม่ธรรมดาเลย มันมีประวัติศาสตร์ที่ยาวนาน มันมีความลึกซึ้ง เพราะฉะนั้นพอเราศึกษาเราก็อิน เลยแทนที่จะเก็บงานศิลปะแบบไม่มีทิศทางหรือเก็บแบบสะเปะสะปะไปเรื่อย ก็มาดูว่างานศิลปะที่เรามีอยู่ในคอลเลคชั่นเนี่ย มันพอจะเอามาเรียงเป็นเรื่องราวอะไรได้บ้าง แล้วปรากฏว่าเรามีทุกยุคทุกสมัยเลย เลยมาเรียงเป็นประวัติศาสตร์ศิลปะของบ้านเรา แล้วตรงไหนที่ขาดก็เอามาเติมทำให้มันครบ ให้เรื่องราวมันสมบูรณ์ขึ้นเรื่อยๆ จนเป็นที่มาของนิทรรศการในครั้งนี้

The Divine Fish, 2547, เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์

เรื่อง: เต้ Art Man

ภาพ: Tooh Athit / เต้ Art Man