ภาพวาด Michelangelo รูปแบบ NFT ขายไป 5.3 ล้านบาท

Read in English / 阅读语言 English 简体中文

เรียกได้ว่าสะเทือนทั้งวงการศิลปะเมื่อ อุฟฟีซี (Uffizi) พิพิธภัณฑ์ระดับโลกเก่าแก่ที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ พ.ศ. 2124 สมัยยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการ (Renaissance) ณ เมือง ฟลอเรนซ์ ประเทศ อิตาลี ตัดสินใจนำผลงานใน collection ตัวเอง เข้าสู่โลกแห่ง Blockchain ในรูปแบบศิลปะ NFTs (Non-Fungible Token) โดยได้เปิดตัวผลงาน NFTs ชิ้นแรกจาก ภาพวาดระดับตำนาน Doni Tondo ของ ไมเคิลแองเจโล (Michelangelo) และขายไปแล้วในราคา 140,000 ยูโร หรือ ประมาณ 5.3 ล้านบาท… และนี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้นเพราะยังมีอีกหลายผลงานที่ทาง อุฟฟีซี เตรียมนำเสนอในรูปแบบศิลปะ NFTs ด้วยเช่นกัน

ผลงาน Doni Tondo เป็นภาพวาดบนแผ่นไม้ทรงกลมเส้นผ่านศูนย์กลาง 120 ซม เชื่อว่าวาดขึ้นในปี พ.ศ.
2048-2049 ซึ่งเป็นภาพที่บรรยายถึง “ครอบครัวศักดิ์สิทธิ์” (Holy Family) ที่ประกอบไปด้วย พระกุมารเยซู, พระแม่มารีย์ และ นักบุญโยเซฟ โดย ไมเคิลแองเจโลได้วาดภาพนี้ให้กับ แอกโนโล ดอนนิ (Agnolo Doni) พ่อค้าผ้าชื่อดังในสมัยนั้น และคำว่า Tondo ในภาษาอิตาลีแปลว่า กลม ?

ผลงานชิ้นนี้ถือว่าเป็น highlight ของทาง อุฟฟีซี มักมีคำพูดเปรียบเปรยว่า ถ้าไปที่ ลูฟว์ (Louvre) ต้องไปชมภาพ โมนาลิซา (Mona Lisa) ของ เลโอนาร์โด ดา วินชี (Leonardo da Vinci) ฉันใด มาที่ อุฟฟีซี ก็ต้องมาชม Doni Tondo ของ ไมเคิลแองเจโล ฉันนั้น ✨ เนื่องจากภาพนี้เป็นหนึ่งในภาพสไตล์ต้นแบบของอภิมหาผลงานจิตรกรรมบนเพดานที่โบสถ์ซิสติน (Sistine Chapel) ที่ วาติกัน (Vatican) โดยเขาได้ไปเริ่มวาดภาพที่โบสถ์หลังจากที่ได้สร้างผลงานชิ้นนี้แล้วสามปี และ ภาพ Doni Tondo ยังเป็นงานจิตรกรรมบนแผ่นไม้ที่ศิลปินวาดเสร็จแล้วเพียงภาพเดียวที่ยังหลงเหลือให้เรามาชมอยู่ในปัจจุบัน และ ด้วยความที่ศิลปินอัจฉริยะคนนี้ชื่นชอบในการสร้างงานประติมากรรมมากว่างานจิตรกรรม ?จึงทำให้จำนวนภาพวาดของเขานั้นยิ่งมีน้อยลงไปอีก และ หาดูไม่ง่ายนักในปัจจุบัน

จากประสบการณ์ส่วนตัวที่เคยได้ไปชมภาพนี้ต้องบอกว่าสภาพยังดีมากๆครับ และ หากใครอยากชมภาพนี้แบบให้ได้อรรถรสเต็มชั้นแนะนำให้ชมภาพแบบสามระยะ ทั้ง Foreground, Midground และ Background เพราะที่แต่ละระยะ จะมีรายละเอียดที่น่าสนใจแฝงอยู่ไม่น้อยเลยครับ ?

การนำความงดงามแห่งศิลปะเมื่อ 500 กว่าปีก่อนหน้ามาสู่โลกศิลปะ NFTs ที่กำลังร้อนแรงในช่วงนี้ ทาง อุฟฟีซี ได้ร่วมมือกับเอเจนซีที่ชื่อว่า ซิเนลโล (Cinello) เพื่อนำผลงานศิลปะของ อุฟฟีซี ไปทำเป็นเวอร์ชั่นสำหรับโลกดิจิทัลซึ่งมีขนาดเท่ากับต้นฉบับในรูปแบบที่ทาง ซิเนลโล เรียกว่า DAW (Digital Artwork) พร้อมออกใบรับรองความเป็นเจ้าของอย่างเป็นทางการ ซึ่งเซ็นรับรองโดย ไอค์ ชมิดต์ (Eike Schmidt) ผู้อำนวยการของ อุฟฟีซี และเป็นที่น่าสนใจว่า ทางพิพิธภัณฑ์ชื่อดังจะได้ส่วนแบ่งกำไรครึ่งหนึ่งจากทุกๆการขายงานในลักษณะนี้ที่ดำเนินการจัดจำหน่ายโดยซิเนลโล ?

การขายงาน NFTs ของ ไมเคิลแองเจโล ในครั้งนี้ อ้างอิงข้อมูลจากหนังสือพิมพ์อิตาลี Corriere della Sera ได้บอกว่าผู้ซื้อเป็นสุภาพสตรีคนหนึ่งจากกรุงโรม (Rome) ที่ซื้อไปให้เป็นของขวัญวันเกิดครบรอบ 60 ปีของ สามี ผู้ที่เป็นนักสะสมงานศิลปะตัวยงเช่นกัน ? ไอค์ยังได้บอกกับหนังสือพิมพ์ดังกล่าวอีกว่า การขายงาน NFTs ครั้งนี้คงไม่ใช่เปลี่ยนรูปแบบการหารายได้ของทางพิพิธภัณฑ์แต่เป็นรายได้เสริมมากกว่า ซึ่งการสร้างตลาดใหม่ลักษณะนี้นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย

ปรากฏการณ์นี้ต้องบอกว่าสนใจมากๆครับ เพราะเป็นเป็นครั้งแรกที่พิพิธภัณฑ์ (แถมเป็นระดับ high profile ซะด้วย) เข้ามาเล่นในตลาด NFTs ด้วยตัวเองอย่างเต็มตัวและไม่ได้ขายงานผ่านห้องประมูล ซึ่งถือว่าเป็นการใช้ประโยชน์จากผลงานที่มีอยู่แล้วในมือ และ แถมยังตอบโจทย์นักสะสมที่อยากได้งานระดับตำนานเหล่านี้แต่ไม่สามารถหาซื้อได้ เพราะคงยากมากๆจนถึงแทบจะเป็นไปไม่ได้ที่ทาง อุฟฟีซี จะขายงานซึ่งถูกมองว่าเป็นสมบัติชาติเหล่านี้ออกสู่ตลาด ?️ ประกอบกับช่วงที่รายได้ที่มาจากการเข้าชมและท่องเที่ยวนั้นได้รับผลกระทบจาก Covid การนำงานมาเข้าสู่โลกศิลปะ NFTs นั้นถือว่าเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจที่จะช่วยให้อยู่รอดต่อไปได้ในภาวะวิกฤตเช่นนี้ แต่ในอีกมุมก็น่าคิดเหมือนกันว่า งานระดับ Masterpiece อายุหลายร้อยปีเมื่อนำมาทำลักษณะนี้ ก็ไม่ต่างกับการสร้างฝาแฝดในโลกดิจิทัลขึ้นมา (Digital Twin) มันจะทำให้คุณค่าของตัวงานต้นฉบับนั้นถูกลดทอนลงหรือไม่ (เพราะเหมือนมีงานขึ้นมาใหม่อีกชิ้น และ ดันเป็น official edition ซะด้วย) ซึ่งประเด็นนี้มีอะไรให้พูดคุยกันอีกมากและต้องช่วยกันมองจากหลายๆมุมครับ …แต่ไม่ว่าจะอย่างไรก็ดี ณ วันนี้งานของยอดอัครศิลปินตลอดกาลอย่าง ไมเคิลแองเจโล ได้เข้าสู่โลก NFTs อย่างเป็นทางการแล้ว โลกแห่งศิลปะมาถึงจุดนี้กันแล้วนะครับพี่น้อง ?

ก้าวต่อไปหลังจากนี้ทาง อุฟฟีซี มีแผนที่จะนำงานอีก 17 ชิ้นเข้าสู่รูปแบบ DAWs ของบริษัท ซิเนลโล โดยเป็นงานชื่อดังระดับอุโฆษทั้งนั้นไม่ว่าจะเป็น The Birth of Venus ของ บอลติเชลลี่ (Botticelli), Madonna del Granduca ของ ราฟาเอล (Raphael), Bacchus ของ คาราวัจโจ (Caravaggio) และ Venus of Urbino ของ ทิเชี่ยน (Titian) เป็นอะไรที่น่าจับตาต่อไปจริงๆครับ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *