Singapore Art Week 2024 รีวิว: ปูผัดพริก 5 จานรวด

Read in English / 阅读语言 English

Singapore Art Week 2024 รีวิว โดย เต้ Art Man

Singapore Art Week 2024 มหกรรมศิลปะใหญ่ที่สุดประจำปีของสิงคโปร์ ได้ปิดฉากลงไปแล้ว ระหว่างวันที่ 19-28 มกราคม 2024 ที่ผ่านมา โดยงานนี้กลิ่นอายแห่งศิลปะได้อบอวลไปทั่วประเทศ มีงานแสดงและกิจกรรมความอาร์ตรวมกันมากกว่า 150 กิจกรรม จากการไปเยี่ยมชมในปีนี้ ต้องบอกว่าให้อารมณ์ที่แตกต่างจากปีที่แล้วพอสมควร และ ยังส่งสารบางอย่างที่สะท้อนออกมาจาก Highlight ต่างๆซึ่งจะมีอะไรบ้าง เต้ Art Man ขอพาทุกท่านไปชมกันครับ

Singapore Art Week 2024: ART SG 2024

ART SG งานแสดงศิลปะประเภท Trade Show ปีนี้จัดเป็นครั้งที่สองแล้ว หลังจากปีก่อนประกาศเปิดตัวอย่างยิ่งใหญ่ตั้งเป้าว่าจะเป็นงานแสดงศิลปะที่ใหญ่ที่สุดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งก่อนเริ่มงานมีกระแสต่างๆเกิดขึ้นมากมาย ไปชมรีวิวกันแบบเต็มๆ ได้ที่ รีวิวงาน ART SG กับ เต้ Art Man

บูธของ MadeIn Gallery โดย Xu Zhen หนึ่งในบูธที่คึกคักเป็นอย่างมากในงาน ART SG 2024
เต้ Art Man ในงาน Art SG
เต้ Art Man ในงาน Art SG 2024

Singapore Art Week 2024: Light to Night 2024

Light to Night หนึ่งในกิจกรรมเด็ดประจำของ Singapore Art Week ที่ไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวง โดยรูปแบบจะนำศิลปะแบบจัดวาง (Installation) มาสร้างบทสนทนา ร่วมกับ ผลงานฉายแสงแห่งศิลปะลงบนอาคาร (Projection Mapping Art) ในยามคำ่คืนของย่าน Civic District บริเวณ National Gallery Singapore นั่นเอง

ป้ายงาน Light to Night 2024 บริเวณด้านหน้า National Gallery Singapore

ส่วนที่เป็น Highlight ได้แก่ผลงานระดับลายเซ็นของศิลปินสิงคโปร์ Kumari Nahappan ที่นำ Saga Seed เมล็ดพันธุ์แห่งความหวังและความงามเรืองแสงหลายขนาดมาจัดวางรวมกันเป็นผลงาน Wings of Change โดยฝั่งตรงข้ามเป็นผลงานศิลปะฉายแสงของศิลปินรุ่นใหญ่ผู้บุกเบิกวงการศิลปะร่วมสมัยของสิงคโปร์อย่าง Teo Eng Seng (ปัจจุบันอายุ 86) และได้ Milosh Luczynski ศิลปินจาก Paris มาร่วมด้วยช่วยกันทำให้ผลงานของ Teo ได้ไปเชิดฉายอยู่บนหน้าอาคารของ National Gallery Singapore ผลงานชิ้นนี้เลยใช้ชื่อว่า TEO ENG SENG: Living The Life

ผลงาน Wings of Change ของ Kumari Nahappan ที่เราชมจะต้องเดินตามเข็มนาฬิกาและจะเห็น Saga Seed เรืองแสงออกมาเป็นจังหวะต่อๆกัน

 

อีกมุมของผลงาน Wings of Change และ TEO ENG SENG: Living The Life ที่มาจุดไฟศิลปะในยามคำคืน

เดินเลยมาหน่อยตรง Victoria Theatre & Concert Hall จะได้พบกับ Wayang Spaceship ยานอวกาศที่ฉายงิ้วของ Ming Wong ศิลปินสายการแสดงสด และ ศิลปะภาพยนตร์ ซึ่งเคยเป็นตัวแทนประเทศไปแสดงที่ Singapore Pavillion ใน Venice Biennale ครั้งที่ 53 เมื่อปี 2009 มาแล้ว ซึ่งใน Light to Night ครั้งนี้เสริฟ์ผลงานคู่กับงานฉายแสงจาก SISTRUM กลุ่มศิลปินสื่อผสมผสาน 3 คนของสิงคโปร์ ที่มาเพิ่มเติมสีสันหน้าอาคาร Victoria Theatre & Concert Hall ด้วยผลงานที่ชื่อเก๋ว่าๆ ภูมิทัศน์ที่ถูกถักร้อย (Embroidered Landscapes)

ผลงาน Wayang Spaceship ของ Ming Wong และ Embroidered Landscapes ของ SISTRUM (พอดีวันที่ไปฝนตก จอตรงกลางของยานอวกาศที่จะมีการฉาย VDO Art เลยไม่ได้เปิด)
ผลงาน Wayang Spaceship ของ Ming Wong (Detail)
ภาพนิ่งของผลงาน Embroidered Landscapes ของ SISTRUM (Detail)
ภาพนิ่งจากผลงาน Winter Sonata, Summer Mookata ของ Knuckles & Notch บนอาคาร The Arts House
8-Bit Word Cloud โดย Justin Loke บริเวณสนามหญ้าด้านหน้าของ The Arts House

Singapore Art Week 2024: National Gallery Singapore

เมื่อเดินเข้ามาใน National Gallery Singapore ก็ประหลาดใจว่าหนึ่งในนิทรรศการ Highlight จาก Singapore Art Week ปีที่แล้ว นิทรรศการ Liu Kuo-Sung: Experimentation as method ยังจัดต่อเนื่องมาถึงปีนี้ สามารถไปชมความอลังการงานสร้างกับผลงานตลอด 70 ปีของยอดปรมาจารย์หมึกจีนสมัยใหม่ กับ รีวิวนิทรรศการนี้ที่ผมเคยเขียนไว้ที่นี่

สำหรับผลงานที่โปรโมทแทบจะทุกช่องทางในปีนี้ ได้แก่ผลงานโต๊ะปิงปองวงกลม “Ping Pong Go-Round” ผลงานสร้างชื่อตั้งแต่ปี 1998 ของศิลปินสิงคโปร์รุ่นเก๋า Lee Wen ซึ่งความสนุกของผลงานนี้คือเราจะได้มีปฏิสัมพันธ์กับคนที่ไม่รู้จัก เพราะจากประสบการณ์ที่ลองสัมผัสด้วยตัวเอง ด้วยความที่โต๊ะเป็นทรงกลม มันจะควบคุมทิศทางค่อนข้างยาก มีหลายช้อทที่คนอื่นตีมาทางผม และ ผมก็ตีไปทางคนอื่นแบบไม่ได้ตั้งใจจน เกิดเสียงหัวเราะและได้พูดคุยกัน

ผลงาน “Ping Pong Go-Round”, 2024 ของ Lee Wen
ไม่ว่าจะลูกจะกระเด็นกระดอนไปทางไหนเจ้าหน้าที่ของ Nation Gallery Singapore ตามเก็บให้หมดเลยสะดวกกับการร่วมสนุกมาก

นิทรรศการ Tropical Stories from Southeast Asia and Latin America เป็นอีกหนึ่งนิทรรศการที่ต้องบอกว่าถ้ามาแล้วไม่ได้ดูถือว่ามาไม่ถึง เพราะนิทรรศการนำเสนอมุมมองการสร้างงานศิลปะแบบคู่ขนานระหว่างเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และ ละตินอเมริกา ตลอดช่วงศตววรษที่ 20 รวมผลงานเกือบ 200 ชิ้นจาก 70 ศิลปิน ซึ่งรวมถึง Frida Khalo, Diego Rivera, Paul Gaugain รวมถึงศิลปินไทยอาทิ ถวัลย์ ดัชนี นอกจากนี้ยังจัดหนักจัดเต็มจัดสวนแบบ Tropical และ เอานกมาคอว์มาจัดแสดงใน Gallery เพื่อให้ได้บรรยากาศแห่งความ Tropical กันสุดๆเลยทีเดียว

ภายใน นิทรรศการ Tropical Stories from Southeast Asia and Latin America
ผลงานสีน้ำมัน Self-Portrait with Monkey, 1945 ของ Frida Kahlo
ผลงาน Comme une liane (Like a Vine), 1946 ของ Maria Martins
ผลงาน หนุมาน,1973 ของ ถวัลย์ ดัชนี
จัดสวนกันใน Gallery เลยทีเดียว สร้างบรรยากาศ Tropical ตามเนื้อหาของนิทรรศการ
มีนกมาคอว์ตัวเป็นๆมาให้ชมกันด้วย

อีกหนึ่งผลงานเด็ดที่จะเปิดเฉพาะหลังตะวันตกดิน ผลงานในห้องสมุดเพดานโดม Rotunda Library & Archive บริเวณชั้น 3 ของ National Gallery Singapore จากปีก่อนที่ฉายดอกไม้สะพรั่งเต็มโดม (ดูได้ในคลิปด้านล่าง) ปีนี้นำเสนอผลงาน Symphony of Order ซึ่งมาในแนว Conceptual VDO Art ที่ฉายฉากทานอาหารของคนทั้ง 12 คนแบบ 360 องศาบนเพดาน (ซึ่งถ่ายที่ร้านอาหารจีน Yan ชั้นดาดฟ้าของ Gallery นั่นหละครับ) โดยด้านล่างจะมีจออยู่บนโต๊ะที่แต่ละคนจะมาเล่าเรื่องราวของตัวเอง ที่เมื่อเอามาเรียงร้อยต่อกันแล้วจะเห็นความสัมพันธ์ระหว่างกฏระเบียบ และ กฏทางสังคมที่มองไม่เห็นในสิงคโปร์ โดยผลงานสุดแนวนี้เป็นฝีมือของ 2 ศิลปินเจ้าบ้าน Sarah Choo Jing และ Mathias Choo ซึ่งท้องสองก็แอบแฝงตัวเข้าไปในกลุ่ม 12 คนเล่าเรื่องเรื่องของตนเองเช่นกัน (ใบ้ให้ว่าทั้งสองคนนั่งฝั่งตรงข้ามกัน)

ผลงาน Symphony of Order ที่ด้านล่างจะเป็นจอแนวตั้งที่จะเล่าเรื่องราวของแต่ละคน
นั่งดูคนกินข้าวบนเพดานโดม 360 ก็เป็นประสบการณ์แปลกใหม่ที่น่าสนใจไม่น้อย

ผลงานของปีที่ 2023ใน Rotunda Library & Archive

@taeartman

พาไปชมผลงานศิลปะ #vdoart #projection #ดอกไม้ เริงระบำสุดเจ๋งจากสิงคโปร์ #วานเลนไทน์2023 #valentine #ศิลปะภาพ#tiktokศิลปะ#tiktokสายอาร์ต#tiktokสายความรู้#tiktokศิลปะสุดปัง#เต้artman#taeartman#แอนิเมชั่น#nationalgallerysingapore #นิทรรศการศิลปะ

♬ original sound – เต้ Art Man – เต้ Art Man

นอกจากนี้ยังมีนิทรรศการและผลงานอื่นๆให้ชมอีกมากมาย

เห็นกะลาสีเรือชื่อดังในภาพนี้กันไหม ผลงานของ Tang Mun Kit
ผลงาน Kinetic Art สุด Conceptual ของ Suzann Victor ที่ทำขึ้นเพื่อสะท้อนประเด็นการหลงตัวเองโดยหลอดไฟจะขยับขึ้นลงกระทบกับแผ่นกระจกอยู่ตลอดเวลา
“อย่าให้เงินกับศิลปะ” เสื้อในตำนานของศิลปินสิงค์โปร Tang Da Wu ที่เคยใส่ประชดต่อหน้าประธานาธิปดี ออง เท็ง เชียง ในปี 1995 อันเป็น Moment ต้องจารึกเอาไว้ในประวัตศาสตร์ศิลปะของสิงคโปร์
ในบริเวณของ Liu Kang Gallery ที่จัดเพื่ออุทิศให้กับ Liu Kang หนึ่งในศิลปินที่บุกเบิกศิลปะร่วมสมัยของสิงคโปร์ซึ่งได้ผสมผสานแนวคิดการใช้สีเข้มข้นแบบ Fauvism ของตะวันตกเข้ากับแรงบันดาลที่ได้จากการไปใ้ช้ชีวิตที่เกาะบาหลี
ผลงานบนดาดฟ้าของ National Gallery Singapore ปีนี้จัดแสดงผลงาน Untitled, 2023 โดย Shilpa Gupta (ปีที่แล้วของ Antony Gormley)

Singapore Art Week 2024: SAM / Tanjong Pagar Distripark

อีกหนึ่งสถานที่ ซึ่งไม่ควรพลาดในเทศกาลนี้ คือ ที่ Singapore Art Museum (SAM) ในย่านสุดแนวอย่าง Tanjong Pagar Distripark ที่ให้อารมณ์ท่าเรือเก่าแบบเรียลๆคูลๆ ซึ่งใน Singapore Art Week ปีที่แล้วเป็นสถานที่หลักในการจัดงาน Singapore Biennale 2022 (ซึ่งจัดถึงเดือน มีนาคม 2023)

นิทรรศการ Ho Tzu Nyen: Time & The Tiger จัดแสดงผลงานสะท้อนแนวคิดและตัวตนในรอบ 20 ปี ของศิลปินร่วมสมัยสิงคโปร์ที่เคยเป็นตัวแทนไปแสดงใน Singapore Paviilion ที่ Venice Biennale ครั้งที่ 54 เมื่อปี 2011 มาแล้ว ซึ่งนิทรรศการนี้ได้จัดหนักจัดเต็มสื่อผสมต่างๆเพื่อสะท้อนถึงประวัติศาสตร์ และ เวลาของเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นในทวีปเอเชีย โดยใช้เสือที่มักจะปรากฏอยู่ในผลงานตามสไตล์ของ Ho เข้ามาร่วมด้วย นิทรรศการนี้จัด 3 ห้องเต็มๆของ SAM เลยทีเดียว

ส่วนหนึ่งจากนิทรรศการ Ho Tzu Nyen: Time & The Tiger
ส่วนหนึ่งจากนิทรรศการ Ho Tzu Nyen: Time & The Tiger
One or Several Tigers, 2017. by Ho Tzu Nyen . Collection of Singapore Art Museum. Courtesy of the artist

นอกจากนี้ยังมีนิทรรศการ 47 Days, Sound-Less โดย ศิลปินสายภาพยนตร์ชาวเวียดนาม Nguyễn Trinh Thi ที่ได้รับเชิญให้ไปแสดงที่ Venice Biennale 2024 ในปีนี้ด้วย นิทรรศการนี้ได้ผสมผสานภาพวิวธรรมชาติเข้ากับการจัดวางที่เล่นการสะท้อนแสงกระจกทรงกลม ทำให้เกิดมิติการเสพย์งานที่ได้เห็นทั้งภาพและความมืด ได้ยินเสียงและความเงียบ ซึ่งส่วนผสมทั้งหมดนี้เป็นมิติการเสพย์งานที่น่าสนใจมาก ซึ่งศิลปินเองต้องนำเสนอมุมมองความสัมพันธ์ระหว่าง สภาวะแวดล้อมธรรมชาติ และ การดำรงอยู่ของมนุษย์ ผมว่าตัวผลงานก็ตอบโจทย์ได้ดีในระดับหนึ่งเลยทีเดียว

47 Days, Sound-Less โดย Nguyễn Trinh Thi
47 Days, Sound-Less โดย Nguyễn Trinh Thi
หนึ่งในผลงานจากนิทรรศการ Proof of Personhood Identity and Authenticity in the Face of AI ที่ SAM ที่ใช้ศิลปะตั้งคำถามเกี่ยวกับ AI ซึ่งน่าสนใจมากเดี๋ยวจะเขียนให้ชมกันนะครับ

Singapore Art Week 2024: ปูผัดพริกแซ่บ 5 จานรวด

ในครั้งนี้สิ่งที่เห็นได้อย่างชัดเจนคือ การเน้นนำเสนอผลงานของศิลปิน สิงคโปร์ เป็นหลักซึ่งไม่ว่าจะเป็น Light to Night, National Gallery Singapore หรือแม้แต่ Rotunda Libray & Archive โดยปีก่อนเน้นไปที่ความหลากหลายของผลงานจากศิลปินนานาชาติ อาทิ การฉายไฟบนอาคารมีผลงานของศิลปินไทย โลเล หรือ ทวีศักดิ์ ศรีทองดี ร่วมอยู่ด้วย หรือ การเปิดตัวนิทรรศการของศิลปินจีนที่ไปทำงานอยู่ที่ไต้หวันอย่าง Liu Kuo Sung และ ผลงานของ Anthony Gromley ที่อยู่ตามจุดต่างๆใน National Gallery Singapore

ตู้ Kiosk โปรโมทกิจกรรม Singapore Art Week 2024 ที่จะเห็นอยู่ได้ตามสถานีรถไฟฟ้า โดยตู้นี่จะให้เราเลือกตัว Mascot ที่เป็นเรามากที่สุดและจะวางแผนการเที่ยว Singapore Art Week มาให้เราตามตัวที่เลือก

แต่ในปีนี้แทบจะเรียกได้ว่า Highlight สิงคโปร์ ล้วน มันสะท้อนออกมาได้ชัดเจนว่า สิงคโปร์พร้อมเปลี่ยนบทบาทและภาพลักษณ์จากผู้นำเข้าศิลปะ และ วัฒนธรรม มาเป็นผู้ส่งออก ตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา สิงคโปร์ ได้จัดนิทรรศการในตำนานที่นำผลงานของศิลปินระดับโลกจากต่างประเทศมาแสดง อาทิ นิทรรศการ Andy Warhol: 15 Minutes Eternal ของ บิดาแห่งป็อปอาร์ต ในปี 2012 และ นิทรรศการของเจ้าแม่ลายจุด YAYOI KUSAMA: Life is the Heart of a Rainbow ในปี 2017 ที่มีคนไทยบินไปถ่ายรูปลง Social กันมากมาย ซึ่งล่าสุดในวงการเพลงก็กดสูตรเดียวกันกับโลกศิลปะในกรณีคอนเสริต์ของ Taylor Swift ที่กำลังเป็นกระแสอยู่ในปัจจุบัน

เต้ Art Man ในนิทรรศการ Andy Warhol: 15 Minutes Eternal เมื่อปี 2012

และมันก็ช่างประจวบเหมาะกับการประกาศรายชื่อเทียบเชิญศิลปิน 332 คนที่จะได้ไปแสดงใน Venice Biennale 2024 ที่กำลังจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 20 เมษายน – 24 พฤศจิกายน 2024 ซึ่งปรากฏว่ามีรายชื่อของศิลปินสิงคโปร์ (รวมศิลปินจากต่างประเทศที่สุดท้ายไปปักหลักทำงานที่สิงคโปร์) รวมทั้งหมด 7 คน ซึ่งถือว่าเป็นสัดส่วนที่น่าสนใจมากที่เดียว ในขณะที่ประเทศไทยมีคนเดียว คือ ” ธัญสก พันสิทธิวรกุล” (ศิลปินสายภาพยนตร์ เจ้าของรางวัลศิลปาธรปี 2550)

ในฐานะผู้ชมงาน ผมต้องบอกตรงๆว่าสิ่งที่ขาดหายจาก Singapore Art Week ครั้งนี้คือความหลากหลายในรสชาติของศิลปะ แต่ในอีกมุมก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าผลงานแต่ละชิ้นในปีนี้ต่างก็เผ็ดร้อน หวานมัน ในสไตล์ปูผัดพริกสิงคโปร์ และ ส่งสารของประเทศที่อยากจะก้าวสู่การเป็นผู้นำในโลกศิลปะของภูมิภาคได้อย่างชัดเจน

ซึ่งปูผัดพริกจานนี้จะไปได้ถึงดั่งฝันไหม เราต้องติตตามชิมกันต่อไป

เรื่อง เต้ Art Man

ภาพ เต้ Art Man / Tooh Athit