teamLab: Field of Wind, Rain and Sun รีวิว

Read in English / 阅读语言 English

teamLab: Field of Wind, Rain and Sun นิทรรศการล่าสุดของ teamLab ในโอซาก้า

teamLab: Field of Wind, Rain and Sun นิทรรศการใหม่ล่าสุดของ teamLab ที่เพิ่งเปิดตัวเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2024 ที่ผ่านมา ณ โรงงาน Can Can Factory ในย่านฮิงาชิโอซาก้า เมืองโอซาก้า งานนี้ทาง teamLab ได้รับโจทย์ให้เปลี่ยนพื้นที่ของทางโรงงาน ให้กลายเป็นงานศิลปะ ซึ่งต้องบอกว่างานนี้ teamLab ได้ผสมผสานเศษซากแห่งอุตสาหกรรม เข้ากับ กลไกธรรมชาติ ผ่านผลงานศิลปะได้อย่างเหนือชั้นแถมยังมีขนมและเครื่องดื่มมาเป็นส่วนหนึ่งของงานศิลปะ

และด้วยความพิเศษนี้ การเข้าชมนิทรรศการนี้ถือว่า exclusive สุดๆ เพราะเข้าชมได้แค่รอบละ 6 คนเท่านั้น! ซึ่งจะเป็นอย่างไร พร้อมแล้วตาม เต้ Art Man ไปชมงานสุดสร้างสรรค์งานนี้กันครับ

เต้ Art Man หน้าทางเข้านิทรรศการ teamLab: Field of Wind, Rain and Sun

teamLab Cafe: Field of Wind, Rain and Sun 

เมื่อไปถึงเจ้าหน้าที่จะพาเราเดินผ่านห้องโถงเล็กๆ ที่มีผลงานศิลปะ 2 ชิ้นต้อนรับผู้มาชม ได้แก่ “Copper Fossils” ที่ห้อยอยู่ด้านบน และ “Sea of Light on the Pedestal” ที่เป็นโต๊ะเหล็กขัดเงาที่จะสะท้อนแสงเปลี่ยนไปตามมุมมองของผู้ชม

ผลงาน Copper Fossils
ผลงาน Copper Fossils (Close up)
ผลงาน Sea of Light on the Pedestal

จากนั้นจะเข้าสู่โซนแรกอันเป็น Highlight สำคัญคือผลงาน “Tea in Spontaneous Order – Dynamic Equilibrium Color”  ซึ่งเป็นประสบการณ์ในคาเฟ่ที่แทบจะมืดสนิท โดยผู้ที่มาชมแต่ละท่านนั้นสามารถสั่งขนมและเครื่องดื่ม(ซึ่งมีให้เลือกทั้งแบบมีแอลกอฮอร์และไม่มี) ได้อย่างละ 1 ที่ หรือ หากอยากจะสั่งเพิ่มสามารถจ่ายเงินเพิ่มได้

บริเวณด้านใน cafe ที่ภายในแทบจะมืดสนิทจะมีแสงจากด้านนอกเข้ามาเท่านั้น (ส่วนด้านหลังเป็นกระจกเงาสะท้อน)

องค์ประกอบที่เป็นส่วนสำคัญของผลงานชิ้นนี้คือแก้วเครื่องดื่มที่จะมีปฏิสัมพันธ์กับผู้ชมด้วยการเรืองแสง โดยจะมีกลไกควบคุมแสงติดอยู่ที่ก้นแก้ว ซึ่งจากข้อมูลที่ได้มาแก้วจะเริ่มเปล่งแสงเมื่อมีเครื่องดื่มเทลงไป และจะดับลงเมื่อเครื่องดื่มหมด (ซึ่งส่วนนี้ต้องบอกว่าเป็นภาพที่สวยมากๆดูได้ในคลิป) และระหว่างที่เรายกดื่มนั้นแก้วจะค่อยเรืองแสงมากขึ้นๆ สีของแก้วจะเปลี่ยนไปที่ละนิดๆซึ่งต้องดูใกล้ๆหากมองไกลๆจะไม่เห็น ซึ่งต้องบอกตามตรงว่ากลไกในส่วนนี้ในรอบที่ผมไปบางจังหวะยกแก้วขึ้นแล้วไม่เรืองแสงก็มีเหมือนกัน

แก้วเรืองแสง ผลงานส่วนหนึ่งของ Tea in Spontaneous Order – Dynamic Equilibrium Color
ขนมที่เห็นคือ ชีสเค้ก กับ ลูกฟิก Tea in Spontaneous Order – Dynamic Equilibrium Color
แก้วจะเรืองแสงขณะยกดื่ม

ในส่วนของแนวคิดและการออกแบบนั้นน่าสนใจมาก แน่นอนว่าระดับ teamLab คงไม่ใช่แค่ให้แก้วเรืองแสงสว่างสวยๆในความมืดให้ถ่ายรูปแล้วจบไปเท่านั้น เพราะจากในห้องที่มืดสนิทเมื่อเรามองออกไปแสงจากแก้วจะสะท้อนกับเงาของกระจกทำให้เห็นภาพซ้อนกับผลงานด้านนอก ราวกับว่าตัวเรากับธรรมชาตินั้นอยู่ด้วยกันเป็นหนึ่งเดียว แต่ความเป็นจริงกลับมีอะไรขวางกั้นอยู่ และเป็นเงาสะท้อนกลับมาที่ตัวเรา (กับบรรดาขนม) 

ภาพสะท้อนที่ซ้อนทับรวมกัน ผลงาน Tea in Spontaneous Order – Dynamic Equilibrium Color

และเหตุที่แต่ละคนที่อยู่ในคาเฟ่ต่างก็มีเครื่องดื่มที่จะแต่ละคนจะเห็นแสงที่ค่อยๆเปลี่ยนไป (คนอื่นมองไกลๆจะไม่เห็น) และ สิ่งที่เกิดขึ้นอยู่ตรงหน้าของแต่ละคนนั้นเมื่อมารวมกันเป็นภาพใหญ่(ภาพรวม)จะก่อให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า”ปรากฏการณ์ทางสิ่งแวดล้อม” (Environmental Phenomena) ซึ่งปรากฏการณ์ที่ว่านี้ถือเป็นแก่นแนวคิดหลักของนิทรรศการในครั้งนี้เลยทีเดียว 

ผู้ชมสามารถอยู่ในผลงาน “Tea in Spontaneous Order – Dynamic Equilibrium Color” ได้เพียงแค่ 50 นาทีเท่านั้น(สามารถออกก่อนได้) 

teamLab: Field of Wind, Rain and Sun กลไกธรรมชาติและเศษซากของอุตสาหกรรม

จากส่วนที่เป็นคาเฟ่เจ้าหน้าที่จะพาเราออกมาสู่ส่วนที่สองของนิทรรศการ ที่จะได้เจอกับผลงาน “Life is an Ephemeral Light Born in the Sea of Darkness” ที่เปลี่ยนทุ่งหญ้าให้กลายเป็นผืนผ้าใบแห่งศิลปะที่มีแสงสาดส่องไล่ลำดับไปอยู่ตลอดเวลาโดยจะสื่อถึงจุดเริ่มต้นที่เป็นความมืดและจบลงที่ความมืดอันเป็นองค์ประกอบของปรากฏการณ์ทางสิ่งแวดล้อมซึ่งผลงานนี้จะชมได้แบบนี้เฉพาะหลังจากที่ตะวันตกดินแล้วเท่านั้น

ผลงาน Life is an Ephemeral Light Born in the Sea of Darkness ที่ไล่แสงที่สาดส่องไปเรื่อยๆ

เมื่อผมเดินมาได้สักสิบก้าวแหงนหน้ามองขึ้นไปมองฟ้าก็จะพบกับผลงาน “Spatial Calligraphy of Light and Wind” ที่คล้ายกับว่าวขนาดใหญ่ที่ลอยเรืองแสงอยู่กลางท้องฟ้า และด้วยโครงสร้างว่างเปล่าต้องอาศัยลมให้โบกสะบัด ผลงานนี้จะรับชมได้เฉพาะในวันที่มีลมแรง(พอ)เท่านั้น

ผลงาน Spatial Calligraphy of Light and Wind

teamLab: Field of Wind, Rain and Sun: ผลงาน Finale ทะเลแก้วเรืองแสง

สุดท้ายก็จะเจอกับผลงาน “Sea of the Sun”ที่สร้างเศษแก้วที่ถูกหลอมแล้วซึ่งเอามาที่เหลืออยู่ในก้นของเตาเผา มาทำเป็นทะเลที่เรืองแสงที่จะเปลี่ยนสีไปตามการเดินของเรา เท่าที่สังเกตุจะเห็นว่าเมื่อไหร่ที่ผมหยุดเดิน ผลงานนี้จะค่อยๆเปลี่ยนเป็นสีเดียวกันจากจุดที่เราหยุดเดิน ประหนึ่งเราได้สร้างน้ำทะเลแห่งแสงขึ้นมาเลยที่เดียว ความรู้สึกที่ไปยืนอยู่ตรงนั้นต้องบอกเลยว่า “ว้าวมาก” และ สะท้อนใจว่าทุกสิ่งเริ่มจากจุดที่เรายืนอยู่และส่งผลกระทบออกไปในวงกว้าง (เมื่อรวมๆกันแล้วคงเป็นสิ่งที่เรียกว่า ปรากฏการณ์ทางสิ่งแวดล้อม สินะ) 

เต้ Art Man ขณะเดินชมผลงาน Sea of the Sun
ผลงาน Sea of the Sun (Close Up)
ผลงาน Sea of the Sun (Detail)
เมื่อหยุดเดินผลงานนี้ก็จะค่อยๆเปลี่ยนเป็นสีเดียวกันลักษณะนี้
ผลงาน Sea of the Sun (Close Up)

teamLab: Field of Wind, Rain and Sun: ปรากฏการณ์ทางสิ่งแวดล้อมที่อาจหาญ

และด้วยแนวคิด “ปรากฏการณ์ทางสิ่งแวดล้อม” นี่เองที่ทำให้เราไม่สามารถจะพบทุกผลงานในนิทรรศการครั้งนี้เพียงครั้งเดียวนับว่าเป็นความคิดที่กล้าหาญมากๆ โดยนิทรรศการนี้สะท้อนว่าผลงานศิลปะนั้นไม่จำเป็นต้องอยู่อย่างเอกเทศในสภาพแวดล้อมปิด แต่ยังสามารถเป็นผลลัพธ์จากสิ่งแวดล้อมรอบตัวรวมถึงการปฏิสัมพันธ์ของผู้คนที่ต่างก็เป็นส่วนหนึ่งของสังคม

บางผลงานนั้นชมได้เฉพาะกลางวัน บางงานชมได้เฉพาะวันที่ฝนตก อย่างเช่นผลงาน “Ephemeral Crystallized Rain” ที่จะเห็นได้ในคืนที่ฝนตกเท่านั้น หรือผลงาน “Enso of the Sun” ที่จะเห็นได้ในตอนกลางที่ไม่มีลมไม่มีเมฆ ช่วงเวลา 11.30-12.30 เพราะต้องอาศัยองศาของพระอาทิตย์ที่ขึ้นในจุดสูงสุดของวัน และถ้าผู้ชมขึ้นไปบนบันไดก็จะเห็นวงกลมที่ทาง teamLab เคลมว่ากลมดิ๊กไม่มีการบิดเบี้ยวแต่อย่างใด

ผลงาน Ephemeral Crystallized Rain (Image Credit: teamLab, Ephemeral Crystallized Rain © teamLab)
ผลงาน Enso of the Sun (Image Credit: teamLab, Enso of the Sun © teamLab)

teamLab: Field of Wind, Rain and Sun ซื้อตั๋ว และ การเข้าชม

หากใครอยากไปชมนิทรรศการนี้ต้องวางแผนให้ดีนะครับ เพราะเข้าได้แค่รอบละ 6 คนเท่านั้น และ ตั๋วเต็มเร็วมากๆ แนะนำให้จองล่วงหน้า ส่วนตัวผมแนะนำรอบกลางคืนมากกว่ากลางวัน และถ้าใครจะไปรถไฟฟ้าให้ลงที่สถานนี Wakae-Iwata และ เปิด Google Maps เดินไปตามนั้นเลยครับใช้เวลาประมาณ 20 นาที (1-1-15 Wakaehigashimachi, Higashiosaka-shi, Osaka)


นิทรรศการ teamLab: Field of Wind, Rain and Sun เปิดให้ชมแล้วตั้งแต่วันที่ 5 ตุลาคมไปตลอดยังไม่มีกำหนด เป็นลักษณะนิทรรศการถาวร ปิดทุกวันอังคารและวันพุธ ซึ่งถึงแม้ว่าจะไม่ใหญ่โตเท่ากับนิทรรศการ teamLab Botanical Gardenในเมืองเดียวกัน แต่ก็ให้ประสบการณ์ที่ไม่มีนิทรรศการของ teamLab งานอื่นใดให้ได้แน่นอน เพราะนิทรรศการต่างๆของ teamLab เองแต่ละงานก็นำเสนอเรื่องราวที่ต่างกันไป เมื่อมารวมกันแล้วก็เป็น “ปรากฏการณ์ทางศิลปะ” ที่ไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวง

สามารถจองตั๋ว นิทรรศการ teamLab โอซาก้า ล่าสุด Field of Wind, Rain and Sun ได้ที่เว็บไซต์ของ teamLab

teamLab: Field of Wind, Rain and Sun

เรื่อง: เต้ Art Man

ภาพ: เต้ Art Man / Tooh Athit

 

คุณอาจจะสนใจเรื่องนี้ AI Art Museum แห่งใหม่ที่ตัวพ่อแห่งวงการ Data Visualization