ค้อนเคียวของ Warhol
ความหมาย ค้อนเคียว หมายถึงอะไรกันแน่ ลองไปชมกรณีศึกษาของ Andy Warhol กันครับ
“มันทำให้ผมประหลาดใจมาก ที่คนสายทุนนิยมสุดขั้วอย่าง Andy Warhol และ ตัวผม (Ronnie Cutrone ผู้ช่วย Warhol)ที่รักความเสรีนิยมแบบสุดๆ ถูกคนกล่าวหาว่าทำกิจกรรมสนับสนุนคอมมิวนิสต์” ถ้อยคำของ Cutrone ใน Catalog นิทรรศการ “Hammer and Sickle” จัดขึ้นที่ C&M Arts ใน New York ปี 2002
ในนิทรรศการดังกล่าวจัดแสดงผลงานชุด Hammer and Sickle, 1976 ของ Andy Warhol ซึ่งสร้างจากภาพถ่ายค้อนเคียว ซึ่งถือเป็นผลงานชุดสำคัญที่ Warhol ได้ผสมผสานแนวคิดศิลปะภาพหุ่นนิ่ง(Still Life) เข้ากับศิลปะ Pop Art อันเป็นเอกลักษณ์ของเขา
ความหมาย ค้อนเคียว
แล้วทำไม Warhol ถึงสร้างผลงานชุดนี้ เขาศรัทธาในแนวคิดคอมมิวนิสต์อย่างนั้นหรือ?
เรื่องมีอยู่ว่าในปี 1975 เขาได้ไปงานเปิดตัวนิทรรศการที่เมือง Ferrara ทางเหนือของอิตาลี ระหว่างนั้นเห็นว่ามีพ่นกราฟฟิตี้มากมายเป็นรูปค้อนเคียว เขาเลยตั้งใจว่าถ้ากลับไปอเมริกาคราวนี้จะลองทำภาพเกี่ยวกับค้อนเคียวและคอมมิวนิสต์ดูบ้าง ไม่ใช่เพราะว่าจะสนับสนุนแนวคิดดังกล่าว แต่เขาคิดว่ามันน่าจะขายดีในอิตาลี (อย่างที่ Cutrone กล่าวในข้างต้นว่า Warhol นั้นหัวทุนนิยมสุดๆ)
ในช่วงเวลานั้นต้องอย่าลืมว่าสงครามโลกครั้งที่สองเพิ่งสงบได้ไม่นาน แค่ 30 ปีเท่านั้น และ ในอิตาลีเพิ่งมีรัฐบาลที่เป็นประชาธิปไตยหลังสงครามโลก ดังนั้นการแสดงออกถึงแนวคิดการปกครองในยุคสมัยก่อนจึงมีให้เห็นเป็นระยะๆ
สัญลักษณ์ของค้อนเคียวนั้นสามารถย้อนกลับไปได้ถึงปี 1894 ซึ่งปรากฏอยู่เหรียญ 1 Peso ของประเทศชิลี ซึ่งเป็นภาพสะท้อนถึงชีวิตที่ต้องดิ้นรนของชนชั้นแรงงานโดย
- ค้อน: หมายถึงแรงงานในภาคอุตสาหกรรม และ ชนชั้นแรงงานในเมือง
- เคียว: หมายถึงแรงงานในภาคการเกษตร และ ชนชั้นแรงงานในชนบท
- การไข้วกัน ประหนึ่งการรวมพลังความสามัคคีรวมกันเป็นหนึ่งของชนชั้นแรงงาน
พอมาถึงในปี 1917 ผู้นำการปกครองโซเวียตในสมัยนั้น Vladimir Lenin and Anatoly Lunacharsky ได้มีการประกวดออกแบบสัญลักษณ์ของประเทศซึ่งผู้ชนะได้นำเสนอภาพค้อนเคียว จนในวันที่ 6 กรกฏาคม 1923 มันได้ถูกนำมาปรับใช้เป็นสัญลักษณ์ของโซเวียตอย่างเป็นทางการ
ทำให้ตั้งแต่นั้นมาหลายประเทศที่เชื่อในระบบการปกครองแบบเดียวกันก็ใช้สัญลักษณ์นี้ตามไปด้วย จนมาถึงปัจจุบันแม้แนวคิดการปกครองนี้ลักษณะจะไม่ได้รับความนิยมเท่ากับสมัยนั้น แต่ทว่ามีคนจำนวนมากยังมองว่า ค้อนเคียวคือสัญลักษณ์ของการปกครองแบบคอมมิวนิสต์ ซึ่งจริงๆแล้วต้นกำเนิดของมันจริงๆคือการตระหนักถึงความยากลำบากในการใช้ชีวิตของชนชั้นแรงงานเท่านั้นเอง
Warhol งานเข้าจากค้อนเคียว
ในโลกของศิลปะ งานศิลปะ 1 ชิ้น สามารถตีความได้หลายรูปแบบ ซึ่งในผลงานชุด Hammer and Sickel ของ Warhol เองก็เช่นกัน
เมื่อกลับไปถึงอเมริกา ยอดศิลปิน Pop Art คนนี้ก็พยายามไปหา Reference จากหนังสือและสื่อต่างๆรวมไปถึงธงชาติที่มีสัญลักษณ์ค้อนเคียวเพื่อมาสร้างสรรค์ผลงาน แต่ไม่เจออันไหนที่ถูกใจ Warhol รู้สึกว่าภาพ icon ต่างๆที่เขาเห็นนั้นมันขาดมิติและดูเรียบๆเกินไป
เขาเลยวาน Cutrone ไปร้านอุปกรณ์ก่อสร้างไปซื้อค้อนกับเคียวจริงๆมา แล้วนำมาถ่ายรูปพอได้ภาพโดนใจก็นำมาสร้างผลงานนี้ ซึ่งในการแสดงผลงานชุดนี้ครั้งแรกเมื่อปี 1977 ขณะที่บรรยากาศทางการเมืองกำลังตึงเครียดเขาเองก็ไม่อยากดราม่าเลยใช้ชื่องานว่า “Still Life” เฉยๆ แต่ก็ยังไม่วายมีคนมากล่าวหาเขาว่าเป็นพวกสนับสนุนคอมมิวนิสต์อยู่ดี (ทั้งที่เหตุผลในการสร้างผลงานชุดนี้แสนจะทุนนิยมสุดๆ)
ล่าสุดผลงานภาพพิมพ์บนผ้าใบ Hammer and Sickle, 1976 (ในภาพ) ได้ปิดประมูลที่ Sotheby’s ไปในราคา 6,414,200 USD หรือประมาณ 223 ล้านบาท เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม ในปี 2022