Read in English / 阅读语言 English 简体中文
“Yakishime ยากิชิเมะ: ปั้นดิน เปลี่ยนโลก” นิทรรศการที่จะพาเราไปรู้จักกับศิลปวัฒนธรรมญี่ปุ่นในแง่มุมต่างๆ ผ่าน “ยากิชิเมะ” เครื่องปั้นดินเผาดั้งเดิมที่เริ่มได้รับความนิยมอย่างมากประมาณ 800 กว่าปีที่แล้ว โดยใช้เทคนิคการทำแบบปราศจากการเคลือบ แต่แทนด้วยการเผาแบบอุณหภูมิสูงประมาณ 1200 – 1300 องศา เพื่อให้ดินเหนียวจับตัวกันจนแน่นจนเกิดปรากฏการณ์ที่เรียกว่า “ยากิชิเมรุ” หรือ ทำให้เป็นแก้วนั่นเอง
นิทรรศการนี้นำเสนอผลงานเครื่องปั้นดินเผามากกว่า 90 รายการ จากต่างยุคต่างสมัย ทำให้เห็นขนบแนวคิดวิวัฒนาการของศิลปะเครื่องปั้นดินเผาแบบยากิชิเมะที่สะท้อนถึงศิลปวัฒนธรรมญี่ปุ่นในแง่มุมต่างๆได้เป็นอย่างดี โดยนิทรรศการแบ่งการนำเสนอออกเป็น 3 ส่วน ตามลำดับเวลาตั้งแต่ยุคแรกสุดไปจนถึงผลงานร่วมสมัย เพื่อที่ผู้ชมจะได้ร่วมเดินทางค้นหาเสน่ห์แห่งผลงานในแต่ละช่วงยุคสมัยได้อย่างชัดเจน
บทนำ: ปฐมบทแห่งยากิชิเมะ
ก่อนที่จะเข้าสู่ช่วงทั้ง 3 นิทรรศการนี้นำเสนอภาพผลงานเครื่องปั้นดินเผายากิชิเมะตั้งแต่ยุคแรกเริ่มในศตวรรษที่ 5 ไปจนถึงสมัย เอโดะ (ศตวรรษที่ 18) พร้อมกับวิดิโอสาธิตการสร้างยากิชิเมะ นอกจากนี้ยังมีผลงานแจกกันปากกว้างซึ้งเป็นเครื่องปั้นดินเผาสุเอกิในสมัยเฮอัน (794-1185) ที่เชื่อว่าน่าจะเป็นต้นกำเนิดของยากิชิเมะมาให้ชมกันอีกด้วย
ส่วนที่ 1 : ยากิชิเมะในฐานะเครื่องถ้วยชา:
พอมาถึงช่วงปลายศตวรรษที่ 12 การผลิตยากิชิเมะก็ได้เริ่มต้นขึ้นที่เมืองต่างๆ ทั้ง บิเซ็น จังหวัด โอคายามา, โทโคนาเมะ จังหวัด ไอจิ , ชิการาคิ จังหวัด ชิงะ รวมไปถึงศูนย์กลางแหล่งเครื่องปั้นดินเผาต่างๆในญี่ปุ่น
ด้วยความนิยมที่มากขึ้น ทำให้ ยากิชิเมะ กลายเป็นภาชนะเครื่องใช้ในครัวเรือนที่มีทั่วทุกบ้าน จนกระทั้งพิธีชงชากำเนิดขึ้นในสมัยมุโรมาจิ (1392-1573) นักดื่มชาผู้แสวงหาแก่นแท้ในธรรมชาติ ผ่านวิถีแห่งความ วาบิ ซาบิ (อธิบายได้สั้นๆคือการเข้าถึงความสวยงามของธรรมชาติที่ไม่สมบูรณ์ สัมผัสความงามตามแก่นแท้ที่เป็นตัวตนของสิ่งนั้นๆ) ทำให้ผู้คนต่างหลงใหลในเอกลักษณ์อันเป็นธรรมชาติและผิวสัมผัสของภาชนะที่ไม่ได้ผ่านการเคลือบของยากิชิเมะ
พอมาถึงยุคสมัยโมโมยามะ (1568-1615) ยากิชิเมะได้ถูกยกระดับให้เป็นถ้วยชาในพิธีชงชา แม้กระทั้ง เซ็น ริคิว ผู้ที่ถูกขนานนามว่าบิดาแห่งพิธีชงชา และ โทโยโทมิ ฮิเดโยชิ ยอดไดเมียวที่รวบรวมแผนดินญี่ปุ่นได้สำเร็จต่างก็ชื่นชอบในความงามของยากิชิเมะ จึงทำให้สมัยนั้นภาชนะแบบยากิชิเมะจึงได้ถูกผลิตออกมามากขึ้นจากการสนับสนุนของผู้นำทางวัฒนธรรม(การชงชา) และการปกครอง
ในนิทรรศการส่วนนี้ได้จัดแสดงเครื่องถ้วยชา พร้อมกับอุปกรณ์ต่างๆ เพื่อให้ผู้ที่มาเยี่ยมชมได้เห็นภาพห้องชงชาแบบดั้งเดิม ควบคู่ไปการจัดแสดงผลงานยากิชิเมะที่เป็นจุดเริ่มต้นของการทำเครื่องถ้วยชาตั้งแต่สมัยโมโมยามะและเครื่องถ้วยชาที่ทำโดยศิลปินร่วมสมัย
ส่วนที่ 2: วาโชกุและยากิชิเมะ
วาโชกุ หรือ อาหารแบบญี่ปุ่น ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้โดย UNESCO ในเดือนธันวาคม 2013 ซึ่งในนิทรรศการได้ระบุบถ้อยแถลงของ UNESCO ที่ประเมินวาโชกุไว้ว่า “อีกหนึ่งเอกลักษณ์อันโดดเด่นของวาโชกุคือการคำนึงถึงความงดงามของธรรมชาติและฤดูกาลที่ผันเปลี่ยนไปซึ่งจะเผยให้เห็นบนโต๊ะอาหาร”
ซึ่งแน่นอนว่าการใช้ภาชนะที่สะท้อนถึงฤดุกาลที่เปลี่ยนไปย่อมเป็นส่วนสำคัญที่เป็นมากกว่าภาชนะเสริฟ์อาหาร นิทรรศการส่วนนี้นำเสนอยากิชิเมะในฐานะภาชนะอาหารที่เป็นรากฐานสะท้อนถึงจิตวิญญาณแห่งวัฒนธรรมอาหารวาโชกุ
ส่วนที่ 3: ยากิชิเมะในฐานะศิลปวัตถุ
ในโลกแห่งศิลปะเมื่อสื่อ วัตถุ และ แนวคิดต่างๆ ได้ผ่านสร้างขึ้นมาเพื่ออรรถประโยชน์การใช้สอย (Functional) ณ จุดหนึ่งมันจะกลายเป็นการสร้างเพื่อเป็นงานศิลปะเพื่อศิลปะ ซึ่งยากิชิเมะก็เช่นกัน มันกำลังมุ่งหน้าก้าวสู่ทิศทางใหม่ในฐานะศิลปวัตถุ(Objets d’art) ที่เป็นอิสระจากข้อจำกัดทางด้านการใช้งานและในขณะเดียวกันยังคงพัฒนาในฐานะภาชนะที่ใช้ในชีวิตประจำวันและเครื่องถ้วยชาอันเป็นจุดเนิดและเอกลักษณ์ในตัวตนที่สำคัญของยากิชิเมะ
นิทรรศการในส่วนนี้นำเสนอผลงานของกลุ่มศิลปินที่พัฒนาแนวคิดการสร้างงานยากิชิเมะในรูปแบบผลงานศิลปะซึ่งเป็นแนวคิดที่พัฒนาขึ้นมาไม่นานนี้ โดยผลงานส่วนมากจะทำขึ้นในราวๆปี 2014-2015 มีชิ้นงานหลายรูปแบบ หลายขนาด ซึ่งแต่ละชิ้นยังคงเอกลักษณ์ของพื้นผิวที่ปราศจากการเคลือบทำให้ลวดลายเส้นลายต่างๆที่ศิลปินได้รังสรรค์เป็นเนื้อแท้ของผลงานที่ดูดิบด้าน เปลือยเปล่า ไม่มีอะไรขวางกั้นกับสายตาของผู้เสพย์งานศิลปะ
นิทรรศการ Yakishime ยากิชิเมะ: ปั้นดิน เปลี่ยนโลก” การเข้าชม
Yakishime ยากิชิเมะ: ปั้นดิน เปลี่ยนโลก” เป็นนิทรรศการสัญจรของเจแปนฟาวน์เดชั่น (Japan Foundation) ซึ่งเดินทางจัดไปทั่วโลก โดยวันนี้เดินทางมาถึงที่ประเทศไทยแล้ว เข้าชมฟรี การจัดงานแบ่งออกเป็นสองช่วง
- ช่วงแรกที่กรุงเทพฯ ตั้งแต่วันนี้ – 26 กันยายน 2566 เวลา 10.00 – 19.00 น. ห้องนิทรรศการ 5 ชั้น 2 หอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน (ปิดทุกวันจันทร์และวันหยุดนักขัตฤกษ์)
- ช่วงสองที่ขอนแก่น ณ หอศิลป์คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ระหว่างวันที่ 7 ตุลาคม – 26 พฤศจิกายน 256 เวลา 10.00 – 17.00 น. (ปิดทุกวันจันทร์)
สำหรับใครไปแล้วแนะนำให้แวะไปกินกาแฟ ร้านโกลเด้น คอฟฟี่ ที่อยู่ในนิทรรศน์รัตนโกสินทร์ (อาคารตรงข้าม) อร่อยดี
ขอบคุณที่ติดตามรับชม คุณอาจจะสนใจเรื่อง ศิลปะค้นหาธรรมชาติของชีวิต
เรื่อง เต้ Art Man
ภาพ เต้ Art Man / Tooh Athit