ภัทรกร สิงห์ทอง: “Consequences of the World and Life” ศิลปะค้นหาธรรมชาติของชีวิต

Read in English / 阅读语言 English

ภัทรกร สิงห์ทอง
บรรยากาศใน นิทรรศการ “Consequences of the World and Life'”

ภัทรกร สิงห์ทอง: “Consequences of the World and Life'”

ภัทรกร สิงห์ทอง กับ นิทรรศการล่าสุด “Consequences of the World and Life'” หรือ “ผลต่อเนื่องของโลกและชีวิต” ซึ่งเป็นนิทรรศการภาคต่อของการแสดงผลงานที่เขาเพิ่งจัดแสดงไปที่ Noname Art Gallery (พื้นที่ศิลปะแห่งใหม่อยู่ตรงร้านขายของเก่า De Siam อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่) ซึ่งคราวนี้ได้ขนผลงานศิลปะเชิงนามธรรมขนาดใหญ่ที่ยาวเป็น 10 เมตร อันเต็มเปี่ยมไปด้วยเรื่องราวแห่งการค้นหาสัจจะแห่งธรรมชาติ มาให้ชมกันที ICONSIAM กรุงเทพฯ

ภาพวาดที่เต็มไปด้วยรูปทรงเส้นสายที่ดูอิสระ บ้างก็มีสีสัน บ้างก็หนักขาวดำ ยิ่งพออยู่ในผ้าใบขนาดยาวยิ่งทำให้เหมือนราวกับว่าเส้นสายเหล่านี้ต้องการจะเดินทางตามหาความหมายของอะไรสักอย่าง ซึ่ง เต้ Art Man ไม่รอช้าขอพาทุกท่านไปคุยกับศิลปินมากประสบการณ์แห่งเมืองลำพูนคนนี้กัน

ภัทรกร สิงห์ทอง
ภัทรกร สิงห์ทอง ในนิทรรศการ “Consequences of the World and Life'” | (ภาพ:  Preecha Pattara)

จุดกำเนิดของนิทรรศการ

ภัทรกร ได้เล่าให้ฟังเกี่ยวกับจุดเริ่มต้นของผลงานชุดนี้ไว้ว่า

“มันเริ่มจาก ผมมาคิดได้ว่ามันน่าจะมีอะไรมากกว่าการสร้างผลงานศิลปะขึ้นมาแล้วขายไป ตอนนั้นผมงานขายได้ตลอด ถึงขั้นแค่ขึ้น Sketch ก็มีคนมาขอซื้อแล้ว พอผมเริ่มคิดตรงจุดนี้ จากนั้นผมแทบจะไม่ได้สร้างผลงานศิลปะอีกเลยตลอดเวลา 7 ปี (ตั้งแต่ช่วงราว เดือนมิถุนายน ปี 2010-2016)”

เขายังเสริมอีกว่าในช่วงเวลานั้นเขาได้ใช้เวลาไปกับการเขียนหนังสือ ศึกษาเกี่ยวกับ ธรรมมะ กฏเกณฑ์แห่งธรรมชาติ ความจริง และ ความเป็นไปของโลก ซึ่งสิ่งเหล่านี้เองนอกจากจะเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างผลงานศิลปะชุดนี้แล้ว ยังทำให้สไตล์การสร้างผลงานของเขาต่างไปจากเดิม

ผลงาน Consequences of the World and Life 4 และ 5

“แต่ก่อนผมทำงานมาหลายรูปแบบมาก (ภัทรกร จบ ปริญญาตรีและโท สาขาจิตรกรรม จากคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม) หลังจากช่วงเวลานั้นพอมันเริ่มเข้าใจธรรมชาติ ผมรู้สึกเบาสบาย ใช้สายเส้นที่ Free Form มากขึ้น ซึ่งนิทรรศการนี้เป็นเหมือนบันทึกเรื่องราวธรรมชาติของโลกที่ผมเห็น และ ถ่ายทอดออกมาในผลงานต่างๆ ซึ่งผมไม่ได้ Focus กับหลักทางสุนทรีย์ศาสตร์ หรือ กฏเกณฑ์ทางศิลปะใดๆ ผมมองว่ามันเป็นเรื่องราวของธรรมชาติที่ผมได้ค้นพบเรียนรู้มากกว่า”

หนังสือผลงานของ ภาสกร สิงห์ทอง
ถ้าใครไปชมแล้วเจอหนังสือเล่มนี้อยู่หน้างาน แนะนำให้เปิดอ่านแล้วจะเห็นพัฒนาการสไตล์การทำงานของ ภัทรกร ย้อนกลับไปตั้งแต่ช่วงราวๆปี 2002 เลยทีเดียว | (ภาพ:  Preecha Pattara)

สัจจะแห่งธรรมชาติผ่านงานศิลปะ

ผลงาน Consequences of the World and Life 2

ระหว่างที่พูดคุยกันนั้น ภัทรกร ไม่ได้เน้นคำจำกัดความเลยว่าผลงานศิลปะของเขาเป็นงานประเภทใด เป็นนามธรรม (Abstract) หรือไม่? มีรูปทรงอะไร? จะขนาดใหญ่หรือเล็ก? แต่กลับมองว่าการสร้างสรรค์ของเขามันคือหัวข้อและเรื่องราวต่างๆของธรรมชาติที่เขาค้นพบประสบเจอ

“อย่างผลงานนี้ (Consequences of the World and Life 2 ) มันสะท้อนวิถีการเรียนรู้ของผมที่บางวันก่อนจะสร้างผลงาน ผมจะกำหนดรู้ความจริงของธรรมชาติ บันทึกสิ่งที่ได้เรียน และ สรุปความเข้าใจ ตัวอักษรที่เหมือนจะอ่านได้แต่อ่านไม่ได้ในผลงานนี้เป็นเสมือนการ Short Note เรื่องราวและการจดบันทึกสิ่งที่ผมเห็นในธรรมชาติ” ภัทรกร อธิบายถึงผลงานภาพวาดลักษณะ Calligraphy (ศิลปะการเขียนอักษร) ที่ยาว 10 เมตร และ สูงเกือบ 3 เมตร

ในผลงานนี้หากสังเกตให้ดีๆบริเวณบนของผ้าใบค่อนไปทางซ้ายจะมีสีออกเหลืองๆ จะว่าสีก็ไม่ใช่ เลอะก็ไม่เชิง แต่มันกลับคือคราบฝุ่นคราบดินที่ธรรมชาติได้แต่งแต้มเติมเต็มเข้ามาในผลงานของเขา

“ผมมักทำงานในสวนลำไย วันนั้นฝนตกลงมาโดนผ้าใบ ก็ไม่คิดว่ามันต้องทำความสะอาดอะไร อย่างที่บอกมันเป็นธรรมชาติ อย่างรูปทรงวงกลมนี้ก็สื่อได้ถึงลำไย สื่อได้ถึงโลก สื่อได้ถึงพระจันทร์ สื่อได้ถึงพระอาทิตย์ มันสื่อถึงได้ทุกอย่าง เพราะในธรรมชาติแล้วทุกอย่างมันคือสิ่งเดียวกัน”

“ซึ่งก็คือการไม่ยึดมั่นถือมั่น?” เต้ Art Man ถาม

“ใช่เลย” ภัทรกร ตอบ

ในตอนนั้นมันทำให้ผมฉุกคิดขึ้นมาได้ทันที ถึงสัมผัสแรกที่เดินเข้าไปในนิทรรศการ ผมได้เห็นผลงานต่างๆจัดแสดงอยู่อย่างมีพื้นที่แยกกันเป็นสัดเป็นส่วน มีชื่อผลงานแต่ละชิ้นระบุอยางชัดเจน แต่ผมกลับไม่ได้รู้สึกว่ามันคือผลงานคนละชิ้นกันเลย ทุกอย่างดูร้อยเรียงกันเป็นหนึ่งเดียว … หรือ อาจเป็นเพราะว่าบางครั้งหากเรามองข้ามการกำหนดนิยามความหมาย เราอาจจะได้ค้นพบ ทำความรู้จักกับสิ่งที่อยู่ตรงหน้าในอีกมุมหนึ่งอย่างนั้นหรือ? (ผมว่าเป็นประสบการณ์การชมงานที่น่าสนใจ ลองไปชมกันดูนะครับ ใครไปชมแล้วรู้สึกอย่างไรกันบ้างมาพูดคุยกันนะ)

รายละเอียดของผลงาน Consequences of the World and Life 2  | (ภาพ:  Preecha Pattara)

 

ผลงาน Consequences of the World and Life 1 ซึ่งมีความยาวถึง 13.5 เมตร ซึ่งชิ้นนี้ ภัทรกร ได้นำเสนอธรรมชาติในเรื่องราวของการเคลื่อนไหวของชีวิต รอยฝีแปรงที่ทับซ้อนสะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงของพลังงานต่างๆในธรรมชาติ

 

รายละเอียดของผลงาน Consequences of the World and Life 1 | (ภาพ:  Preecha Pattara)

 

Consequences of the World and Life 3 ที่พาดยาวลงมาด้วยความยาว 12 เมตร ซึ่ง ภัทรกร ได้เล่าให้ผมฟังเกี่ยวกับผลงานนี้ใจความว่าถึงแม้จะเริ่มต้นจากที่สูงเพียงใดสุดท้ายทุกอย่างในธรรมชาติก็ตกลงสู่พื้นดิน | (ภาพ:  Preecha Pattara)

 

รายละเอียดของ Consequences of the World and Life 3

 

ด้านหลังก็สวยไปอีกแบบ-รายละเอียดของ Consequences of the World and Life 3

สำหรับการมาชมนิทรรศการนี้ ภัทรกร ได้ฝากทิ้งท้ายไว้ว่า”ผมอยากจะให้ผู้คนที่มาชมได้เห็นธรรมชาติและความจริงของโลกนี้ผ่านผลงานศิลปะ จากนั้นเมื่อเดินออกไปเขาจะตระหนักถึงความจริงแบบนี้กับทุกๆสิ่งที่อยู่รอบตัวซึ่งจะไม่จำกัดอยู่แค่งานศิลปะ แต่มันอาจะเป็น สิ่งของต่างๆ ผู้คนรอบตัว และสุดท้ายจะเข้าใจในธรรมชาติของโลกนี้มากขึ้น และ พบเจอหนทางแห่งความสุข”

ก่อนจะจบการสัมภาษณ์ผมได้ถาม ภัทรกร ว่าคิดยังไงกับการเข้ามาของ AI ในโลกศิลปะ?

“มันเป็นทวิลักษณ์ มีทั้งด้านดี และ ไม่ดี เหมือนมีความมืด และ มีความสว่าง อยู่ที่ว่าแต่ละคนจะใช้งานมันอย่างไร”

นิทรรศการ ‘Consequences of the World and Life’ การเข้าชม

นิทรรศการ ‘Consequences of the World and Life’ เปิดให้ชมแล้ว ตั้งแต่วันนี้ – 31 สิงหาคม 2566 ที่ชั้น 1 ICONSIAM บริเวณ ICONLUXE Pop Up Space ชมได้ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย ภัทรกร แอบเผยให้ฟังว่าเมื่อนิทรรศการดำเนินไปถึงครึ่งทาง ผลงานแสดงบางส่วนจะเปลี่ยนไปในช่วงราวๆวันที่ 1 สิงหาคม 2566

-*- อัพเดท-*-

ข้อมูลล่าสุดของผู้จัดงานการเปลี่ยนแปลงผลงานในนิทรรศการนี้จะเริ่มเปิดให้ชมได้ตั้งแต่วันที่ 6 สิงหาคม 2566 – 31 สิงหาคม 2566 นะครับ

นิทรรศการ Consequences of the World and Life  ณ ชั้น 1 ICONSIAM บริเวณ ICONLUXE Pop Up Space  (ภาพ:  Preecha Pattara)

 

ภัทรกร สิงห์ทอง กับผลงาน Consequences of the World and Life 6 |(ภาพ:  Preecha Pattara)

หวังว่าคุณจะเพลิดเพลินกับเรื่องนี้ คุณอาจจะสนใจเรื่องราวของนิทรรศการ รวมผลงานหาชมยากในรอบ 70ปี ของปรมาจารย์ภาพวาดหมึกจีนสมัยใหม่ Liu Kuo-Sung และ เทรนด์ศิลปะไหนมาแรง AI ทำนายในอีก 100 ปี พร้อมตัวอย่างผลงาน

ติดตามเต้ Art Man ได้ทุกช่องทาง

Tiktok: www.tiktok.com/@taeartman
YouTube: www.youtube.com/@taeartman
Twitter: @taeartman
IG: @taeartman
FB: เต้ Art Man